จนท.สั่งยุติกิจการล้างถังสารเคมี เร่งตรวจสอบสารตกค้าง

ภูมิภาค
24 มี.ค. 66
19:29
461
Logo Thai PBS
จนท.สั่งยุติกิจการล้างถังสารเคมี เร่งตรวจสอบสารตกค้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจ้าหน้าที่ สั่งให้ผู้ประกอบการยุติกิจการล้างถังสารเคมี จ.นครราชสีมา ไว้ก่อน พบสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายชนิด พร้อมเก็บตัวอย่างดินและน้ำตรวจสอบ

วันนี้ (24 มี.ค.2566) จากกรณี หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ 11 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบสถานประกอบการล้างถังบรรจุสารเคมี จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่ ต.มะเกลือเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ตรวจพบถังบรรจุสารเคมีชนิดพลาสติกขนาดตั้งแต่ 20 ลิตร - 1,000 ลิตร และถังโลหะขนาด 200 ลิตร ทั้งที่ล้างแล้วและยังไม่ได้ล้างรวมจำนวนมากกว่า 2,000 ใบ

ซึ่งมีลักษณะเป็นภาชนะบรรจุสารเคมีที่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยสถานประกอบการทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ไม่มีใบอนุญาตค้าของเก่า และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ล่าสุดวันนี้จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวพบว่าทางเจ้าหน้าที่ได้มีการนำเทปสีเหลืองที่เขียนว่าห้ามเข้าปิดกั้นพื้นที่บริเวณที่ล้างถังสารเคมีที่ยังไม่ได้ทำการล้างอยู่ประมาณ 20 ใบ ซึ่งมีทั้งถังขนาด 1,000 ลิตร และถังขนาด 120 ลิตรวางเรียงรายซ้อนกันอยู่ โดยในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้มีการสั่งให้ผู้ประกอบการได้ยุติกิจการล้างถังสารเคมีเอาไว้ก่อนเพื่อรอผลการตรวจสอบตัวอย่างดินและตัวอย่างน้ำที่ได้นำกลับไปตรวจสอบในห้องแล็บ

ส่วนถังสารเคมีที่ล้างแล้ว ถูกนำไปวางจำหน่ายหน้าร้านอีกกว่า 100 ใบ ขายตามขนาด ราคามีตั้งแต่หลักร้อย ไปถึงหลักพัน

ด้านนายบัญชา ขุนสูงเนิน ผู้อำนวยการส่วนควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นด้วยเครื่องด้วยเครื่องมือ X-Ray fluorescence พบโลหะหนักหลายชนิด ได้แก่ ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม นิกเกิล และพลวง เป็นต้น ซึ่งเป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งจะเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง

จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำทิ้งและสารเคมีที่ตกค้างส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันผลการตรวจสอบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการทางกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งถ้าหากตรวจพบสารโลหะจากตัวอย่างที่เก็บมาจริงก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับเจ้าของกิจการเกี่ยวกับไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่มีสารอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับถังบรรจุสารเคมี ที่อยู่ในสถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นถังที่ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้อง นำมาขายต่อให้รายย่อย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง