รถสำรวจดาวอังคารเผยภาพ "ทิวเมฆ" หายาก ช่วยบอกใบ้เรื่องสิ่งมีชีวิตโบราณ

Logo Thai PBS
รถสำรวจดาวอังคารเผยภาพ "ทิวเมฆ" หายาก ช่วยบอกใบ้เรื่องสิ่งมีชีวิตโบราณ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) รถสำรวจดาวอังคารลำล่าสุดขององค์การนาซาถ่ายภาพก้อนเมฆได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หายากบนดาวอังคาร ที่คาดว่าก่อตัวมาจากน้ำแข็งแห้งและผลึกน้ำแข็งคล้ายกับเมฆบนโลก

นับเป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้วที่ เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) รถสำรวจขององค์การนาซาได้ใช้เวลาศึกษาหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในอดีตบนดาวอังคาร หรือที่เรารู้จักกันในฉายา "ดาวเคราะห์แดง" โดยเพอร์เซเวียแรนซ์มีภารกิจหลัก ๆ ในการขุดเจาะค้นหาแร่ธาตุต่าง ๆ ในหิน และเก็บตัวอย่างดินกับอากาศดาวอังคาร พร้อมกับสังเกตรูปแบบสภาพอากาศบนดาวอังคารไปในตัวด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2023 รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ได้ภาพสุดตระการตาของริ้วเมฆบนท้องฟ้ายามเช้ามืดของดาวอังคาร ซึ่งแลดูคล้ายกับ "เมฆเซอรัส" ที่ลอยตัวอยู่สูงในวันฟ้าโปร่งบนโลก แต่ทว่าเมฆบนดาวอังคารนั้นกลับมีตำแหน่งอยู่สูงขึ้นไปกว่าเมฆบนโลกมาก ประมาณ 50 - 80 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว และมีองค์ประกอบเป็นคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง หรือ น้ำแข็งแห้ง ผสมกับผลึกน้ำแข็งธรรมดาที่มีลักษณะเหมือนกับน้ำแข็งบนโลกอย่างไม่มีผิดเพี้ยน

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารในปัจจุบันนั้น ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับปริมาณไอน้ำในชั้นบรรยากาศโลกเท่านั้น ยังก่อให้เกิดริ้วเมฆที่มีความชุ่มชื้นได้ ราวกับว่าไอน้ำบนดาวอังคารนั้นเป็นเพียงแค่แอ่งน้ำตื้นเขินบนถนนที่สามารถเดินข้ามไปได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ปริมาณไอน้ำบนโลกนั้นเปรียบได้กับสระว่ายน้ำขนาดยักษ์

นอกจากเรื่องริ้วเมฆบนดาวอังคารยังมีความน่าสนใจด้านความแตกต่างจากเมฆบนโลกแล้ว การค้นพบนี้ยังช่วยให้เรามองย้อนกลับไปในอดีตของดาวอังคารอีกด้วย ซึ่งนักดาราศาสตร์ทั่วโลกเห็นพ้องตรงกันว่า เมื่อประมาณ 2 - 4 พันล้านปีที่แล้ว ดาวอังคารเคยมีแต่เมฆที่เต็มไปด้วยไอน้ำบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว ไม่เหมือนกับเมฆที่เกิดจากผลึกน้ำแข็งแห้งผสมกับน้ำในปัจจุบัน และได้ก่อให้เกิดฝนตกลงมา จนดาวอังคารมีมหาสมุทรหลั่งไหลอยู่ทั่วพื้นผิว อันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมาได้

แต่สักช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์หลังจากนั้น สนามแม่เหล็กของดาวอังคารที่คอยปกป้องรังสีอันตรายจากดวงอาทิตย์ก็ได้หยุดทำงานลง ปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลให้ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารถูกลมสุริยะพัดพาออกไปและเบาบางลงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้น้ำไม่สามารถคงสถานะของเหลวได้จนเหือดหายไป หรือไม่กลายเป็นน้ำแข็ง ทิ้งให้รังสีอันตรายจากห้วงอวกาศทะลวงลงมาสู่พื้นผิว ก่อนที่ดาวอังคารจะกลายเป็นดินแดนที่แห้งแล้ง หนาวเย็น และเต็มไปด้วยฝุ่นผงอย่างในปัจจุบัน

การค้นพบก้อนเมฆจากผลึกน้ำแข็งบนดาวอังคารของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ นั้น จึงเป็นหลักฐานชั้นดีว่าดาวอังคารไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่แห้งแล้งสนิทเสียทีเดียว แต่ยังมีความชุ่มชื้นที่อาจหลงเหลือมาจากแหล่งน้ำบนพื้นผิวในอดีต หรือไม่ก็มาจากแหล่งกำเนิดที่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด อย่างเช่น แหล่งน้ำใต้ดิน หรืออุกกาบาตที่นำพาน้ำแข็งเข้ามา ซึ่งได้ย้ำเตือนให้นักดาราศาสตร์เห็นถึงความเป็นไปได้ของเรื่องสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวอังคารมากขึ้นอีกขั้น ไม่แน่ว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่มนุษย์ตามหามาโดยตลอดก็อาจอยู่แค่ดาวเคราะห์ดวงถัดไปนี่เอง

ที่มาข้อมูล: NASA
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง