บทวิเคราะห์ : งานเข้ากกต.ไม่เลิกปมทัวร์นอกดูงาน

การเมือง
20 เม.ย. 66
16:04
430
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : งานเข้ากกต.ไม่เลิกปมทัวร์นอกดูงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. จะยืนยันความจำเป็นในการเดินทางไปดูการเตรียมการณ์เลือกตั้งในต่างประเทศ และงบที่ใช้อยู่ในวงเงินที่กำหนดไว้ และเป็นงบที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติของสภาแล้ว การดูงานของกกต.ทั้ง 6 คนก็ไม่ได้ไปพร้อมกัน มีการเหลื่อมเวลากันอยู่

แต่ไม่ได้ทำให้ความแคลงใจและความเชื่อมั่นใน กกต.ชุดนี้ ในความรู้สึกของประชาชนส่วนหนึ่ง เกิดผลในเชิงบวกอย่างที่ควรจะเป็น หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกโซเชียล ถึงการเดินทางไปต่างประเทศของ กกต.ในช่วงเวลาใกล้ถึงวันเลือกตั้ง

แทนที่จะอยู่เตรียมพร้อมแก้ไขปัญหา และความไม่พร้อม สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น

ทั้งยังมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ยื่นเรื่องร้องไปยังปปช.ให้มีการตรวจสอบพร้อมยกข้อพิรุธหลายข้อ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นเรื่องถึงประธาน กกต.ให้ชี้แจงเรื่องงบประมาณที่ใช้ รวมถึงให้เปิดรายชื่อคณะดูงานที่ร่วมเดินทาง

ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมทั้งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย และในอดีต กกต.ก็มีประเด็นค้างคาใจ หวังให้ กกต.แจกแจงเพื่อให้เกิดความกระจ่าง

ความจริง ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 นายศรีสุวรรณก็เคยยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบเรื่องกกต.7 คน ซึ่งก็เป็นกกต.ชุดนี้ เดินทางไปดูงานความพร้อมการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยนอกราชอาณาจักร ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพียงไม่กี่วัน มาแล้วครั้งหนึ่ง

รวมทั้งเรื่องประเทศที่ กกต.เดินทางไป อ้างเพื่อดูความพร้อม กลับเลือกเฉพาะประเทศที่มีความหรูหรา ทันสมัยน่าไปท่องเที่ยว อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งที่ 3 อันดับแรกที่คนไทยขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 3 ประเทศในปี 2562 คือ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และจีน

ครั้งนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ตั้งเป็นปุจฉาให้วิสัชนาว่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมัน กกต.เคยไปตรวจติดตามมาแล้วเมื่อปี 2562 จึงไม่ควรจะไปตรวจซ้ำ ขณะที่ประเทศฮังการี และสโลวาเกีย มีคนไทย 2 ประเทศอยู่รวมกัน 8,000 กว่าคน ซึ่งน้อยมาก ไม่ควรเลือกเป็นประเทศต้องไปตรวจติดตาม

แต่กับไต้หวัน มีคนไทยอาศัยอยู่ 80,000 คน กลับไม่ไป หรือแม้แต่เกาหลีใต้มีคนไทยหลายหมื่น หรือมาเลเซียที่เคยมีปัญหาในอดีต กกต.กลับไม่เลือกเดินทางไป

แม้ด้านหนึ่ง นายอิทธิพร ประธาน กกต. คงหวังจะลดแรงเสียดทาน หากกกต.ไปเฉพาะประเทศที่มีความศิวิไลย์ จึงเลือกเดินทางไปดูงานที่ประเทศแอฟริกาใต้ เคนย่า และโมร็อคโค แทน แต่เพราะความไม่เชื่อมั่นในองค์กร คือกกต.ถูกสะสมมานาน จึงปฏิเสธไม่ได้ ที่จะถูกนำมาวิพากษ์และตั้งข้อสงสัยอยู่ดี

ยังไม่นับเรื่องที่นายวัชระ เพชรทอง ให้เปิดเผยรายละเอียด ไม่ใช่เฉพาะงบฯ ที่ใช้ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องเปิดเผยรายชื่อคณะเดินทาง หลังจากเคยพบวิธีการหนีบ “เด็กนาย” หรือ ”กิ๊ก” ของ ส.ว.บางคณะ ที่เป็นข่าวฮือฮาอยู่พักใหญ่ สะท้อนเส้นสายที่ใหญ่มาก มีชื่อเป็นผีไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อหวังได้เวลารับราชการแบบทวีคูณ แต่ตัวจริงกลับชิลด์ ๆ อยู่กับ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติในกรุงเทพฯ

ความสำคัญเรื่องการค้างคาใจใน กกต. มีนัยและความสำคัญหมายมากมายกว่าของชำร่วยของที่ระลึกที่ กกต.ติดไม้ติดมือไปฝากให้คนในสถานทูต ที่คณะเดินทางไปตรวจเยี่ยม แต่ก็เป็นเรื่องความสุจริตโปร่งใส ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ กกต.สำหรับภารกิจการจัดและดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคนทุกฝ่าย

ขณะที่ปัญหาระบบเวลาของ กกต.ล่ม ในการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าวันสุดท้าย 9 เม.ย.2566 ทำให้ประชาชนบางส่วน ไม่สามารถลงทะเบียนได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ถึงเที่ยงคืน ถือเป็นกรณีล่าสุด ที่ทำให้เกิด “งานเข้า” กกต. หลังจากก่อนหน้านี้ ก็มีเรื่องเอาคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิลงคะแนนไปคิดรวมในการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.มาแล้ว

สำหรับกกต.หรือคณะกรรมการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปี 2540 กกต.ถูกตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายสำคัญสำหรับดำเนินการและจัดการเลือกตั้งแทนที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกลไกของรัฐบาล ที่ถูกมองว่าสามารถใช้อำนาจและกลไก รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัดเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ กกต.ชุดแรกๆ เป็นที่ชื่นชมของผู้คน เพราะเอาจริงเอาจัง ชนิดที่นักการเมืองยังขยาด

เพราะความเด็ดขาดจริงจัง เป็นที่พึ่งสำหรับการเลือกตั้งของทุกคนทุกระดับ คือสิ่งที่กกต.พึงต้องตระหนัก และต้องเรียกกลับคืนมาสู่กกต.ให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง