โดรนพองลมกันกระแทก ใช้บินทำภารกิจที่เผชิญสิ่งกีดขวาง

Logo Thai PBS
โดรนพองลมกันกระแทก ใช้บินทำภารกิจที่เผชิญสิ่งกีดขวาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยจากรัฐแอริโซนา พัฒนาโดรนบินแบบพองลม ทำให้โดรนมีความยืดหยุ่นสูง สามารถรับแรงกระแทกจากการชนสิ่งกีดขวาง และเหมาะกับการทำภารกิจฉุกเฉิน

โดรนบินในปัจจุบันมีข้อจำกัดเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกีดขวาง เนื่องจากไม่สามารถทนต่อแรงกระแทกจากการชน และไม่สามารถยึดเกาะบนพื้นผิวที่แตกต่างได้ ทำให้การใช้งานโดรนถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประเมินความเสียหายจากที่สูงบนท้องฟ้า แต่ยังไม่สามารถใช้เพื่อนำทางผ่านอาคารที่ถล่มได้ เพราะโครงสร้างที่มีลักษณะแข็งของโดรนทำให้ความสามารถในการเผชิญกับสิ่งกีดขวางลดลง ดังนั้นเมื่อชนเข้ากับเสา คาน ท่อหรือสายเคเบิลมักเป็นสาเหตุให้โดรนเหล่านี้พังเสียหาย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) จึงได้ออกแบบโดรนบินโซบาร์ (SoBar - Soft-Bodied Aerial Robot) ที่มีน้ำหนักเบาและมีโครงสร้างยืดหยุ่น ผลิตจากผ้าไนลอนเคลือบด้วยโพลียูรีเทน (PU) มีคุณสมบัติยืดหยุ่นและทนทาน กันซึม กันน้ำ ภายในอัดอากาศเข้าไปเพื่อสร้างความอ่อนนุ่มสามารถพองลมเพื่อให้ทนทานต่อการชนและดูดซับแรงกระแทก สามารถเด้งกลับจากการชนและป้องกันใบพัดของโดรนไม่ให้เกิดความเสียหาย ในส่วนฐานของโดรนยังมีนวัตกรรมกริปเปอร์ที่ช่วยให้อุปกรณ์ยึดเกาะได้อย่างปลอดภัยบนพื้นผิวเกือบทุกชนิดและมั่นคงเมื่อลงจอด โดยทีมงานได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากกรงเล็บของนก

โดรนบินโซบาร์ (SoBar) มีความทนทานจากการถูกชนในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างจากโดรนทั่วไป สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต นักวิจัยตั้งเป้าหมายว่าจะใช้ความสามารถของโดรนแบบใหม่นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น การตรวจสอบไฟป่า การช่วยเหลือการลาดตระเวนทางทหาร และแม้แต่การสำรวจพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงอื่น ทั้งนี้ทีมนักวิจัยหวังว่าความสำเร็จครั้งนี้จะนำไปสู่การออกแบบโดรนที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มาข้อมูล : newatlas, eurekalert, trendhunter, hackster
ที่มาภาพ : eurekalert
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง