8 พฤษภาคม วันกาชาดสากล ระลึกถึง "อังรี ดูนังต์"

ไลฟ์สไตล์
8 พ.ค. 66
09:56
1,920
Logo Thai PBS
8 พฤษภาคม วันกาชาดสากล ระลึกถึง "อังรี ดูนังต์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันที่ 8 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันกาชาดสากล เพื่อแสดงความรำลึกถึง "ญัง อังรี ดูนังต์" ผู้ริเริ่มก่อตั้ง

กาชาด เป็นคำที่ใช้เรียกหน่วยงานสากลที่ประกอบด้วยอาสาสมัครจากทั่วโลก มีจุดประสงค์ในพิทักษ์ชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ การบรรเทาทุกข์และการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องชาติพันธุ์ เชื้อชาติ เพศ ความเชื่อทางศาสนา ระดับชั้นในสังคม หรือ ความคิดเห็นทางการเมือง

ประวัติความเป็นมา

วันกาชาดสากล เกิดขึ้นภายใต้แรงผลักดันของ ญัง อังรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นายธนาคารชาวสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากที่เขาได้พบเห็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2402 โดยเกิดการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างกองกำลังทหารของฝรั่งเศสร่วมกับอิตาลี กับกองกำลังทหารของออสเตรีย ณ บริเวณใกล้ ๆ หมู่บ้านของซอลเฟริโน ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ทำให้มีทหารบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขาดคนช่วยเหลือพยาบาล เขาจึงได้รวบรวมบรรดาหมอชาวออสเตรียและกลุ่มนักเรียนแพทย์อิตาเลียน มาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บ โดยไม่เลือกว่าเป็นฝ่ายมิตรหรือศัตรู

ครั้นเมื่อเขาเดินทางกลับถึงกรุงเจนีวา ญัง อังรี ดูนังต์ ได้นำแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ดังกล่าว มาถ่ายทอดผ่านหนังสือ "ความทรงจำที่ซอลเฟริโน" ขึ้น ทั้งนี้ มีใจความสำคัญระบุตอนหนึ่งว่า "จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดตั้งองค์กรอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในสงคราม" และเสนอแนะว่า ควรจะมีการตระเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือในการพยาบาลให้พร้อมในยามสงบ เพราะเมื่อมีสงครามเกิดขึ้นจะได้ช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บทุกฝ่ายได้ทันท่วงที และขอให้อย่ายิงคนที่ช่วยบรรเทาทุกข์เหล่านี้ เนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้ยังจะช่วยเหลือคนในยามที่เกิดทุพภิกขภัย เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ อีกด้วย

จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ทำให้เกิดการประชุมระหว่างประเทศขึ้น ณ กรุงเจนีวา โดยมีผู้แทนจาก 16 ประเทศเข้าร่วมประชุม นำไปสู่การก่อตั้งสภากาชาดสากลขึ้น ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. 2406 พร้อมกันนี้ ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" ขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The Internation Committee of the Red Cross หรือ ICRC)

ทั้งนี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ได้กำหนดให้วันที่ 8 พ.ค. ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายอังรี ดูนังต์ เป็นวันกาชาดโลก

สัญลักษณ์กาชาด

กิจการกาชาดถือกำเนิดขึ้น โดยมีเครื่องหมายสีแดงบนพื้นขาว เป็นสัญลักษณ์ของกาชาดที่รู้จักกันทั่วโลก และการใช้เครื่องหมายนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้นกำเนิดของกาชาด สัญลักษณ์ดังกล่าวจะมีลักษณะกลับกันกับธงชาติของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ จึงได้มีการกำหนดเครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดงใช้ในประเทศมุสลิม โดยเรียกว่า "สภาเสี้ยววงเดือนแดง" แทน "สภากาชาด" แต่ก็มีหลักการและหน้าที่ไม่แตกต่างกัน โดยยึดหลักการกาชาด 7 ประการคือ

  • มนุษยธรรม
  • ความไม่ลำเอียง
  • ความเป็นกลาง
  • ความอิสระ
  • บริการอาสาสมัคร
  • ความเป็นเอกภาพ
  • ความเป็นสากล

ปัจจุบันมีสภากาชาดของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศจำนวน 181 ประเทศ สำหรับสภากาชาดไทยเป็นสมาชิกของสหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศลำดับที่ 31

บทบาทของสภากาชาดสากล

จากการบุกเบิกของ ญัง อังรี ดูนังต์ ร่วมกับทนายความคนสำคัญ คือ กุสต๊าฟ มัวนิเอร์ ทำให้ขบวนการกาชาดประสบความสำเร็จ และกลายเป็นสภากาชาดสากล มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมมากมาย โดยสภากาชาดของแต่ละประเทศจะเป็นองค์กรอิสระ สามารถจัดวางแผนงานของตนให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้ ขณะที่องค์กรกาชาดสากล ประกอบด้วย 3 องค์กรหลัก ดังนี้

1. คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC มีพันธกิจในการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามและความขัดแย้ง ทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศ ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นกฏหมายระหว่างประเทศที่มีการลงนามรับรองโดย 194 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

2. สหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ หรือ IFRC มีหน้าที่ในการประสานงานและรวบรวมสรรพกำลังของประเทศสมาชิกในการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติขั้นรุนแรง ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในวงกว้าง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินถล่มในอัฟกานิสถาน หรือ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ

3. สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง (National Societies) ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยการบรรเทาทุกข์เมื่อเกิดภัยพิบัติ การบริการด้านสุขภาพและสังคม ทั้งนี้ในยามสงครามมีหน้าที่ช่วยเหลือพลเรือนที่ได้รับผลกระทบและช่วยงานของหน่วยบริการแพทย์ทหารตามสมควร ปัจจุบันมีสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงกว่า 186 ประเทศทั่วโลก

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 www.chularat3.com

อ่านข่าวอื่นๆ :

4 พฤษภาคม "วันฉัตรมงคล"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง