เลือกตั้ง2566 : มุมมองการเมืองไทยจากสื่อต่างชาติ

การเมือง
12 พ.ค. 66
13:50
5,065
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : มุมมองการเมืองไทยจากสื่อต่างชาติ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "คนรุ่นใหม่" สนใจการเมืองและเกิดกระแสการมีส่วนร่วมผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น สื่อต่างชาติวิเคราะห์ว่า พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมกำลังถูกสั่นคลอน และการกลับมาทวงอำนาจของตระกูลชินวัตร แม้ฝ่ายค้านจะชนะการเลือกตั้ง แต่ทหารจะยังอยู่ในอำนาจต่อไป

วันนี้ (12 พ.ค.2566) สำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษ วิเคราะห์ถึง "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ที่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เท่ากับเป็นการกลับมาทวงคืนอำนาจของคนตระกูลชินวัตร

ในยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของเพื่อไทย กลับต้องต่อสู้กับก้าวไกล ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

แม้ว่า อาจจะมีโอกาสได้รับการสนับสนุนเพียงพอที่จะตั้งรัฐบาล แต่ "เพื่อไทย" อาจจะต้องเจอกับศึกด้านอื่นในอนาคต รวมถึงเรื่องร้อนที่ส่งผ่าน กกต.ไปสู่ศาล และ การประกาศกลับประเทศของทักษิณ

The Economist นิตยสารทางเศรษฐกิจระดับโลก วิเคราะห์ว่า เมื่อเทียบการต่อสู้ระหว่าง แพทองธาร และ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้ง แต่ก็จะไม่ได้หมายความว่า ทหารจะหมดอำนาจ เพราะยังมีกลไกหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะวุฒิสภา

Aljazeera มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวกำหนดนโยบายและทิศทางของประเทศไทย ซึ่งประชาชนกำลังส่งแรงกดดันไปที่รัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ แรงกดดันด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ในเมียนมา การขยับเข้าใกล้จีน และ จุดยืนต่อสงครามที่คลุมเครือ

BBC อ้างถึง บทสัมภาษณ์ ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า "อนาคตใหม่" เข้าถึงความรู้สึกของคนหนุ่มสาว ทำให้ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 3 ในการเลือกตั้งปี 62 การถูกยุบพรรค ทำให้เสีย ส.ส.ไป 1 ใน 3 กลายมาเป็นฝ่ายค้านที่โดดเดี่ยวในสภา แต่การกลับมาในฐานะ "ก้าวไกล" ก็ได้รับความนิยมในช่วงโค้งสุดท้ายช่วงหาเสียง ทำให้เกิดความหวาดวิตกในพรรคคู่แข่ง

ไม่ว่าจะเป็น 1 ในพรรครัฐบาลผสม หรือ ฝ่ายค้านที่แข็งแกร่ง ก็ต้องจับตามองสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ ก้าวไกล หลังจากนี้

อ่านข่าวเพิ่ม : เลือกตั้ง2566 : “ก้าวไกล” วอนประชาชนดัน “พิธา” นั่งนายกฯ ยกจุดเด่น “ใหม่-ชัด-พร้อม”

คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศึกษาพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ พบว่า พวกเขาเติบโตขึ้นมากับคำถามเชิงสังคมที่ว่า เหตุใดโลกถึงฟูมฟักคนเพียงกลุ่มเดียว ถ้าเปลี่ยนแปลงได้ จะดีกว่านี้หรือไม่

การโตขึ้นมาในช่วงการเมือง7-8 ปีนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็เปลี่ยนสถานะจากคนที่ไม่มีสิทธิ กลายมาเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง

พวกเขามาพร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาแล้ว ทำให้การมีส่วนร่วมในการเมืองของคนรุ่นใหม่ แสดงออกผ่านการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้พวกเขาได้เสพเนื้อหาในกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแนวทางเดียวกัน

หลายพฤติกรรม คล้ายกับได้รับการสนับสนุยผ่านยอดไลก์ และ แชร์ แต่มันเป็นคนละส่วนกับการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการไปข้างหน้า ที่ต้องอาศัยการลงมือทำและใช้วิธีการที่สังคมเห็นด้วย

อ่านข่าวเพิ่ม : เลือกตั้ง2566 : เปิด 46 หุ้นต้องห้าม! ที่นักการเมืองห้ามถือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง