ประกาศใหม่ "ฤดูน้ำแดง” ห้ามจับสัตว์น้ำจืดมีไข่บังคับใช้ 16 พ.ค.

สิ่งแวดล้อม
13 พ.ค. 66
15:23
6,948
Logo Thai PBS
ประกาศใหม่ "ฤดูน้ำแดง” ห้ามจับสัตว์น้ำจืดมีไข่บังคับใช้ 16 พ.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมประมง ออกประกาศฉบับใหม่ “ฤดูน้ำแดง 2566” คุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศมีผล 2 ปี เริ่มมีบังคับใช้16 พ.ค.นี้ นำร่องเฟสแรก 33 จังหวัด ฝ่าฝืนปรับ 5,000-50,000 บาท หรือปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำ

วันนี้ (13 พ.ค.2566) นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่ ในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ โดยเรียกว่า “ฤดูน้ำแดง” หมายถึงช่วงระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ชะล้างหน้าดินและพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่าง ๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สัตว์น้ำมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ 

สำหรับการปรับกฎหมายดังกล่าว ให้เหมาะสมกับข้อมูลชีววิทยาของสัตว์น้ำจืด ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ปริมาณน้ำท่า และข้อมูลด้านการประมงของในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจากการติดตามฤดูน้ำแดงในรอบ 2 ปี (2564–2565) ครอบคลุม 20 ลุ่มน้ำ 49 จังหวัด 72 แหล่งน้ำ 126 จุดเก็บตัวอย่าง ตัวอย่างปลา 175 ชนิด พบว่าปลาส่วนใหญ่วางไข่เกือบทั้งปี 

อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า นอกจากนี้ ประกาศฉบับใหม่ เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด สามารถประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ทั้งในเรื่องของพื้นที่ เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำการประมง และมีผลบังคับใช้ 2 ปี ระหว่างพ.ศ.2566-2567 

มีผลบังคับใช้ 16 พ.ค.นี้ นำร่องเฟสแรก 33 จว.

สำหรับฤดูน้ำแดง แบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ออกเป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1 ครอบคลุม 33 จังหวัดเริ่ม 16 พ.ค.–15 ส.ค.2566 และ วันที่ 16 พ.ค.–15 ส.ค.2567 ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ 

ส่วนระยะที่ 2 เริ่มวันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค.2566 และวันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 2567 ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรีกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เว้นแต่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำป่าว จ.กาฬสินธุ์ ให้อยู่ภายใต้บังคับระยะเวลาตาม ระยะที่ 1

ส่วนระยะที่ 3 เริ่มวันที่ 1 ก.ย.-30 พ.ย.2566 และ วันที่ 1 ก.ย.-30 พ.ย.2567 พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา

เครื่องมือชนิดไหนใช้ได้-ไม่อนุญาตใช้

ในส่วนของเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้

  • เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
  • ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่ 3 เครื่องมือขึ้นไป
  • สุ่ม ฉมวก และส้อม
  • ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
  • แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร) 

ทั้งนี้ กรณีที่คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดประกาศกำหนดมาตรการอนุรักษ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยห้ามทำการประมงที่ใช้เครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขในการทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใด ตามวรรคหนึ่ง 1–5 ให้ถือปฏิบัติตามประกาศนั้นด้วย

ส่วนการทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง