หาดูยาก! ช้างป่าเขาใหญ่เกือบ 20 ตัวอวดโฉมทุ่งหญ้าหนองผักชี

สิ่งแวดล้อม
25 พ.ค. 66
18:27
2,034
Logo Thai PBS
หาดูยาก! ช้างป่าเขาใหญ่เกือบ 20 ตัวอวดโฉมทุ่งหญ้าหนองผักชี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตื่นตา! หาดูยาก "ช้างป่าเขาใหญ่" เกือบ 20 ตัวอวดโฉมกลางทุ่งหญ้าหนองผักชี หลังเข้าต้นฝน เตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังสัตว์ป่า ยึดตามข้อห้าม และต้องจองเข้าเที่ยวผ่านระบบอี-ทิกเก็ต

วันนี้ (25 พ.ค.2566) เพจเฟซบุ๊กอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ -Khao Yai National Park โพสต์คลิปภาพช้างป่าเขาใหญ่ที่รวมตัวกันมากกว่า 20 ตัว โดยระบุว่า เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยพบโขลงช้างป่าออกหากิน บริเวณทุ่งหญ้าหนองผักชี ช่วงนี้ทุ่งหญ้าออกดอกขาวสะพรั่งตัดกับแสงแดดยามเย็น  

นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบี เอสออนไลน์ว่า เป็นภาพโขลงช้างตัวเมีย และลูกช้างขนาดใหญ่เกือบ 20 ตัว ถือเป็นภาพที่หายาก เพราะปกติจะรวมตัวกันไม่บ่อยนัก บางครั้งแค่ 4-5 ตัว และส่วนใหญ่จะเป็นช้างตัวผู้ที่มีตั้งชื่อบนเขาใหญ่ ที่มักออกมาเดินบ่อยๆ และนักท่องเที่ยวคุ้นเคย 

เนื่องจากตอนนี้ช่วงต้นฝนหญ้าระบัดกำลังโตช้างออกมาหากิน และโขลงช้างที่พบโขลงนี้ก็มีขนาดไล่เลี่ยกัน เมื่อมีการรวมกันจึงที่เป็นภาพที่น่าประทับใจ 
ทุ่งหญ้าระบัด ช่วงต้นฝนดึงดูดช้างป่าเขาใหญ่รวมโขลงเกือบ 20 ตัว

ทุ่งหญ้าระบัด ช่วงต้นฝนดึงดูดช้างป่าเขาใหญ่รวมโขลงเกือบ 20 ตัว

ทุ่งหญ้าระบัด ช่วงต้นฝนดึงดูดช้างป่าเขาใหญ่รวมโขลงเกือบ 20 ตัว

นายชัยยา กล่าวว่า สำหรับช่วงฝนเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวน้อย เฉลี่ยต่อวันเหลือเพียง 800 คน แต่ก็ยังขอให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวต้องจองตั่วผ่านระบบอี-ทิกเก็ตมาก่อน และทางอุทยานเขาใหญ่ จะเปิดใช้เต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ รวมทั้งเตือนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยว หากเจอช้างป่า หรือสัตว์ป่าชนิดอืนๆอย่าส่งเสียงดัง  อย่าบีบแตรใส่  อย่าเปิดไฟกระพริบ เพราะอาจะทำให้สัตว์ตกใจและเกิดความไม่ปลอดภัยได้ 

ส่องข้อควรปฎิบัติเมื่อพบช้างป่าเขาใหญ่

กรมอุทยานแห่งชาติฯ แนะวิธีสังเกตอารมณ์ของช้างอย่างง่ายๆ เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา

เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา

ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้นๆ เพียง 2–3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี

สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม แต่หากช้างโกรธหรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียด จากการสังเกตตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ๆ จะรีบเจ้ามาทำการอารักขา ขอย้ำ ว่า “อารักขาช้างป่า” ไม่ใช่ไล่ช้างป่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง