เลือกตั้ง2566 : ก้าวไกลพร้อมหารือ "เก้าอี้ รมว.-ปธ.สภาฯ" ร่วมเพื่อไทย พรุ่งนี้!

การเมือง
29 พ.ค. 66
08:00
2,215
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : ก้าวไกลพร้อมหารือ "เก้าอี้ รมว.-ปธ.สภาฯ" ร่วมเพื่อไทย พรุ่งนี้!
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับตาการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะรอยร้าวระหว่างพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย นอกจากเร่งสรุปโควตา "ครม.พิธา 1" แล้ว เตรียมเจรจาเรื่องเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันอังคารที่จะถึงนี้

วันนี้ (29 พ.ค.2566) ในการประชุมพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคที่จะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 30 พ.ค.นี้ จะมีการหารือประเด็นปัญหาตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังตกลงกันไม่ได้และยังมีข้อถกเถียงกัน ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่า พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอชื่อ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ชิงเก้าอี้นี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

แต่หากการพูดคุยไม่ลงตัว อาจมีทางเลือกและมีชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ขึ้นมาแทรก แต่นายวันมูหะมัดนอร์ ยืนยันไม่ต้องการจะแย่งชิงเก้าอี้นี้กับใคร และเชื่อว่า พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย จะหาข้อยุติเรื่องนี้ได้

อ่านข่าวเพิ่ม : "พิธา" ส่ง "วิโรจน์" ทลายระบบส่วยให้หมดประเทศ

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ย้ำถึงความจำเป็นในการหารือเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นการหารือภายในกับพรรคเพื่อไทย เพราะหากเอาตำแหน่งนี้พูดคุยกันผ่านสื่อ อาจไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมือง ขณะเดียวกันในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ จะพูดคุยกันถึงความคืบหน้า ในแต่ละวาระของการขับเคลื่อนงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ พร้อมมั่นใจปัญหาที่เกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยจะไม่ถอนตัวร่วมรัฐบาล เพราะยืนยันมาตลอดจะจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล

สูตรคำนวณเก้าอี้รัฐมนตรี 8.6:1

มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ "พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย" ได้หารือถึงกรอบการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นมีการเสนอกันแล้ว 14+1

โดยพรรคก้าวไกล ได้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง พร้อมตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอขอ 14+1 เช่นกัน โดยขอเก้าอี้รัฐมนตรี 14 ที่นั่ง พร้อมเก้าอี้ประธานสภาฯ
แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้

สำหรับสูตรคำนวณแบ่งรัฐมนตรี เบื้องต้นจะคิดคำนวณจากจำนวน ส.ส.หารด้วย 8.6 ต่อรัฐมนตรี 1 ที่นั่ง
พรรคก้าวไกลได้ 14 ที่นั่งบวก 1 เก้าอี้นายกรัฐมนตรี
พรรคเพื่อไทยได้ 14 เก้าอี้รัฐมนตรี
พรรคประชาชาติได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี
พรรคไทยสร้างไทยได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วย
ส่วนพรรคเล็ก ที่มี ส.ส. 1-2 ที่นั่งนั้น คือ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ เมื่อรวมเสียงแล้วอาจไม่ถึงสูตรที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี

ผู้สนับสนุน "เพื่อไทย" ขอให้ถอนตัวร่วมรัฐบาล

ระหว่างการเจรจาฟอร์มทีมรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือเรียกร้องให้พรรคถอนตัวในการร่วมรัฐบาล หลังถูกกดดันจากพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยัน การยื่นหนังสือถือเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ต้องกลัวทัวร์ลง

อ่านข่าวเพิ่ม : เลือกตั้ง 2566: เสื้อแดง FC "เพื่อไทย" ยื่น 5 ข้อให้ถอนตัวตั้งรัฐบาล

ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า "FC พรรคเพื่อไทย" และแฟนคลับพรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงแกนนำพรรค ผ่าน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย พร้อมระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีคนบางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูล-โจมตีพรรคเพื่อไทย จนเกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมจัดรัฐบาล 8 พรรคการเมือง

กลุ่มผู้สนับสนุนมีข้อเสนอให้กับพรรคเพื่อไทย ดังนี้

  1. พิจารณาทบทวนถอนตัวจากการร่วมจัดตั้งรัฐบาล
  2. ให้เกียรติพรรคอันดับ 1 รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล
  3. โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากพรรคที่ได้อันดับ 1
  4. โหวตสนับสนุนกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน
แต่หากพรรคอันดับ 1 ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ให้พรรคเพื่อไทยใช้สิทธิในการเป็นพรรคอันดับ 2 รวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พร้อมน้อมรับการตัดสินใจของพรรค และจะเคียงข้างพรรคด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธาตลอดไป

ขณะที่นายอนุสรณ์ ระบุว่า การที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมายื่นหนังสือ ถือเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย และจะนำเสนอต่อผู้บริหารพรรคตามขั้นตอน โดยยืนยันไม่กังวลทัวร์ลง เพราะความเห็นต่างเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ตรงไปตรงมา ไม่ตัดตอน บิดเบือนกล่าวหา ใส่ร้ายกัน

"ณัฐวุฒิ" ย้ำจุดยืนหนุน "พิธา" เป็นนายกฯ

ล่าสุด นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้สนับสนุน แต่เข้าใจและเคารพในความคิด ความรู้สึกของกองเชียร์ พร้อมยืนยันว่าหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในวันนี้ คือปกป้องชัยชนะของประชาชน ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชน แข่งกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ รอวันให้ประชาชนตัดสินใจอีกครั้งในสนามเลือกตั้ง

พร้อมยืนยันไม่มีเกมอื่น ไม่มีทางเดินอื่น 2 พรรคต้องเดินไปด้วยกัน สิ่งที่ยังเห็นต่าง ให้ไปจบในวงเจรจา ถ้าปล่อยมือกัน เท่ากับปล่อยมือจากประชาชน

สภาประชาชนฯ เสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

ขณะที่กลุ่มสภาประชาชนแห่งชาติ นำโดย พระสมาน คัมภีรปัญโญ หรือ พระศรีงาม เปิดเวที "หยุดความพินาศด้วยรัฐบาลแห่งชาติ" ก่อนอ้างอิงเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อแก้วิกฤตบ้านเมือง เพราะหลังการเลือกตั้ง ส่อให้เห็นถึงความขัดแย้งของกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง และอาจกลับไปสู่ปัญหาเดิม ๆ ด้วยการยึดอำนาจรัฐประหาร

อ่านข่าวเพิ่ม : เลือกตั้ง2566 : ดุสิตโพล เผย ประชาชนกังวลตั้งรัฐบาล โหวตนายกฯ

โดยเห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้ แม้พรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะต้องอาศัยเสียง ส.ว. ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา จึงเห็นควรให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ผสมทุกพรรคการเมือง โดยไม่ต้องมีฝ่ายค้าน เป็นทางออกภายใต้ระบอบรัฐสภาปัจจุบัน เพื่อเปลี่ยนแปลงไทยสู่ระบอบประชาธิปไตย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง