หมอห่วงเด็กเล็กป่วย "ไข้เลือดออก" ซ้ำ เสี่ยงน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด

สังคม
31 พ.ค. 66
10:55
629
Logo Thai PBS
หมอห่วงเด็กเล็กป่วย "ไข้เลือดออก" ซ้ำ เสี่ยงน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
หมอโรงพยาบาลเด็กเตือนสังเกตอาการเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปีป่วยไข้เลือดออก นอกจากมีไข้ จุดเลือดออกตามตัว อาจมีอาการไอ-ท้องเสียร่วมด้วย ห่วงติดเชื้อซ้ำอาจเกิดภาวะน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566 พญ.ประอร สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา หัวหน้าศูนย์โรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ไข้เลือดออก ว่า สถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 มีการระบาดแบบปี เว้น 2 ปี โดยในปี 2562 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก จากนั้นปี 2563-2564 มีผู้ป่วยน้อยลง

ส่วนในปี 2565 มีผู้ป่วยประมาณ 46,000 คน และในปี 2566 กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าอาจมีการระบาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นจริง หากเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปี 2565 ทั้งจำนวนของคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่และเด็ก

ขณะนี้ช่วยอายุที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกมากที่สุด เป็นช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 15-24 ปี ตามมาด้วยเด็กโต ช่วงอายุ 10-14 ปี ขณะเดียวกันในช่วงนี้ยังมีผู้ป่วยอาการรุนแรงที่ต้องนอนโรงพยาบาล ส่วนอัตราการเสียชีวิตขณะนี้อยู่ที่ 0.08%

อ่านข่าว : ระวัง! สธ.เตือนไข้เลือดออกระบาด คาดตัวเลขป่วยพุ่ง มิ.ย.นี้

สำหรับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีเด็กป่วยนอนโรงพยาบาลประมาณสัปดาห์ละ 5-6 คน ยังไม่มาก แต่หากเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวนคนไข้ที่ต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระยะไข้ ยังไม่ได้อยู่ในระยะวิกฤตของไข้เลือดออก

พญ.ประอร สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

พญ.ประอร สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

พญ.ประอร สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

หัวหน้าศูนย์โรคไข้เลือดออก กล่าวอีกว่า กลุ่มเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี หากมีไข้เกิน 2 วัน โดยที่ไม่มีอาการของการติดเชื้ออย่างอื่นชัดเจน เช่น ไม่มีไอ ไม่มีน้ำมูก ไม่เป็นโควิด ไม่อาเจียนหรือท้องเสียชัดเจน มีไข้เกิน 2 วันควรมาพบแพทย์ เพราะอย่างน้อยการเจาะเลือดสามารถบอกได้ว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย

หากเป็นการติดเชื้อจากไวรัส ไข้จะลดลงเองไม่เกิน 3-5 วัน แต่หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้รับยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ไข้ก็จะลดลงภายใน 2 วัน แต่หากอีก 2 วันไข้ไม่ลด แพทย์จะนัดติดตามดูอาการ ซึ่งในเคสที่สงสัยว่ามีโอกาสจะเป็นไข้เลือดออก อาจมีการเจาะเลือดติดตามซ้ำ หรือในบางคนที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดมากของไข้เลือดออก หรือมีคนในบ้านป่วยเป็นไข้เลือดออกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ควรเฝ้าระวังเพราะมีโอกาสเป็นไข้เลือดออกได้ โดยแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ในคนไข้กลุ่มเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี หากป่วยเป็นไข้เลือดออก อาจมีอาการไอ ท้องเสีย ร่วมด้วย นอกเหนือจากอาการไข้ ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เคยเก็บรวบรวมข้อมูลทารกอายุน้อยกว่า 1 ปีที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก พบว่า 50% ของคนไข้มาด้วยอาการท้องเสีย

นอกจากมีไข้ ยังมีจุดเลือดออกตามลำตัว ในเด็กบางคนอาจมีอาการไอ มีน้ำมูกและท้องเสียร่วมด้วย

ส่วนผู้ใหญ่ที่มีอาการไข้ ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 และไข้เลือดออก หากมีไข้ 2 วันควรตรวจด้วย ATK เพื่อหาการติดเชื้อของโควิดก่อน หาก ATK ให้ผลลบ ให้สังเกตอาการตัวเอง หากปวดเมื่อยตามตัวมาก ตามตัวมีจุดเลือดออกหรือมีผื่นขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าใช่โรคไข้เลือดออกหรือไม่

ติดเชื้อซ้ำ เสี่ยงน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด

พญ.ประอร เปิดเผยว่า ผู้ที่เป็นไข้เลือดออก หากเป็นในระดับชนิดรุนแรง หมายถึงมีการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด อาจจะไม่ได้เกิดในวันแรกที่มีไข้ แต่จะเกิดเร็วสุดประมาณวันที่ 3 ของไข้ ซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณวันที่ 3-5 ของไข้ หากมีการรั่วของน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือดที่จะทำให้เกิดภาวะช็อก และหากเกิดภาวะช็อก อาจตามมาด้วยเลือดออกรุนแรง หรือตับวาย ไตวาย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ไข้เลือดออกรุนแรงชนิดที่มีน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไม่ได้เกิดจากตัวไวรัสโดยตรง เป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส เพราะฉะนั้นโรครุนแรงจะเกิดขึ้นในคนไข้ที่ติดเชื้อซ้ำ ไม่ได้ป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งแรก

อ่านข่าว : เทียบอาการ! ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่-โควิด อะไรเหมือน-ต่าง? 

สำหรับประเทศไทยมีไวรัสไข้เลือดออก 4 สายพันธุ์ เท่ากับว่าเรามีโอกาสติดเชื้อทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกอาจไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่หากเป็นครั้งที่ 2, 3 หรือ 4 มีโอกาสที่จะมีเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกายออกมา แล้วทำให้มีการรั่วของน้ำเหลืองออกไปนอกเส้นเลือดได้

ปัจจัยเสียงที่ทำให้น้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือดคือ การติดเชื้อซ้ำ ถ้าในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กหรือทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าเด็กอื่นๆ

หัวหน้าศูนย์โรคไข้เลือดออก กล่าวอีกว่า การระบาดของโรคในแต่ละปีอาจไม่ระบาดพร้อมกันทั้ง 4 สายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่ในขณะเดียวกันช่วง 3-6 เดือนหลังจากการติดเชื้อนั้น อาจจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถกำจัดสายพันธุ์อื่นได้ชั่วคราว เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปจะไม่เป็นซ้ำในช่วงเวลา 3-6 เดือนจากที่เป็นครั้งแรก

ส่วนการรักษาไข้เลือดออก ไม่มียาต้านไวรัส แต่จะให้สารน้ำทดแทน นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่รับรองให้ใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่าย และมีข้อจำกัดคือน่าจะได้ผลดีในคนไข้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้

หากเด็กป่วยเข้าข่ายเป็นไข้เลือดออก ห้ามกินยาแอสไพรินและไอบูโพรเฟน ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพราะมีความเสี่ยงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารอักเสบและมีเลือดออก เนื่องจากคนไข้โรคไข้เลือดออกจะมีช่วงวิฤตของโรค เกร็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากช่วงนี้ได้รับยากลุ่มเอ็นเสดจะทำให้มีเลือดออกมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

พญ.ประอร ย้ำว่า ไข้เลือดออกจากการติดเชื้อไวรัส จะมีอาการไข้สูงตั้งแต่ 2-7 วัน การกินยาลดไข้ไม่ได้ป้องกันไม่ให้ไข้ขึ้น แต่เป็นการบรรเทาอาการ ซึ่งยาลดไข้แก้ปวดที่ดีและปลอดภัยที่สุดไม่ว่าจะช่วงอายุไหนก็ตาม คือ ยาพาราเซตามอล แต่หากกินถี่มาก เช่น ทุก 4 ชั่วโมง อาจส่งผลต่อค่าตับได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด 13 เรื่อง น่ารู้เกี่ยวกับ "ยุง" วายร้ายตัวจิ๋ว

นักกีฏวิทยา ชี้ ปัจจัยโลกร้อน "ยุงเพิ่มจำนวน-โตไว-ผสมพันธุ์เร็วขึ้น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง