วิเคราะห์ : ขู่ปลุกม็อบ- “ปลุกผี” รัฐบาลแห่งชาติ ระวังปืนลั่น

การเมือง
2 มิ.ย. 66
15:22
922
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : ขู่ปลุกม็อบ- “ปลุกผี” รัฐบาลแห่งชาติ ระวังปืนลั่น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ถึงขณะนี้ ท่าทีจากทาง ส.ว. ไม่เพียงตอกย้ำเรื่องปมถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และเรื่องท่าที ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น

แต่ยังขยายผลไปถึงเรื่องท่าทีของมวลชนกลุ่มอนุรักษ์นิยม เตรียมพร้อมบุกกรุงฯ เพราะไม่พอใจที่พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าต่อ เรื่องมาตรา 112 รวมทั้งเรื่องตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” ให้ทุกพรรคการเมือง รวมทั้งพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ร่วมกันเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดต่อบ้านเมืองขณะนี้

เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง จากนายจเด็จ อินสว่าง รองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.อีกคนเป็นประธาน กมธ.นี้ เคยเปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคข้อกำหนดนายกรัฐมนตรี 8 ปี จนถูกมองว่า “เอื้อประโยชน์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” มาแล้ว

นอกจากย้ำจุดยืนไม่โหวตเลือกนายพิธาแล้ว อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคนนี้ ยังเปิดประเด็น จะแนวคิดผ่าน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ ว่า การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เอาข้อเด่นของแต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ มารวมกันเพื่อบริหารประเทศ คือสิ่งที่ตอบโจทย์การเมืองได้ดีที่สุด ตอนนี้

เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยมีเป้าหมายสำคัญไปที่ความมั่นคงของชาติ

เท่ากับเป็นการปลุกผี “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง ความหมายที่เป็นสากลของรัฐบาลแห่งชาติ (national unity government) คือเป็นรัฐบาลผสม ประกอบด้วยทุกพรรคการเมือง หรือทุกพรรคการเมืองใหญ่ ในสภา ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล อาจไม่มีฝ่ายค้านเลย หรือมีน้อยมาก

ที่ผ่านมา เคยมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติในหลายประเทศ เช่น อิตาลี ปี 2011 (พ.ศ.2554) ในช่วงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป ประเทศแคนาดา ปี 1917 (พ.ศ.2460 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็เคยตั้งรัฐบาลแห่งชาติในช่วงสงครามกลางเมือง และในอีกหลายประเทศ แต่จะสังเกตได้ว่า มักตั้งขึ้นในช่วงเวลาไม่ปกติ เช่น สงคราม วิกฤติเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติของชาติ

ในประเทศไทย คือมีเสนอแนวคิด ตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกฯ ถึงยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมักพูดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติหลายครั้ง

แม้กระทั่งก่อนการรัฐประหาร ปี 2549 ท่ามกลางสถานการณ์ที่เขม็งเกลียว ก็มีข้อเสนอนี้ จาก พล.อ.ชวลิต อีก แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ ทำให้รัฐบาลแห่งชาติ ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

เนื่องจากที่ผ่านมา การพูดหรือเสนอแนวทางตั้งรัฐบาลแห่งชาติของไทย นอกจากจะเกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียด หรือหาทางออกไม่ได้แล้ว ยังถูก “ปลุกผี” ในสถานการณ์ที่ฝ่ายตนเองอยู่ในสถานการณ์เพลี่ยงพล้ำ ต้องหาตัวช่วย

นอกจากนี้ เรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” ในไทย มักถูกโยงกับสถานภาพ หรือตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”เป็นสำคัญ เช่น กรณีปัจจุบัน คือมีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านนายพิธา

หรือย้อนกลับไปหลังเลือกตั้งปี 2562 เมื่อยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะเสียงปริ่มน้ำทั้ง 2 ฝ่าย นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ขณะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็เปิดประเด็น “นายกฯคนกลาง” หรือ “นายกฯ คนนอก” เช่นกัน

แต่ดูเหมือนการเปิดประเด็นรัฐบาลแห่งชาติ ครั้งหลังสุด โดยนายจเด็จ จะไม่มีเสียงขานรับอีกเช่นเคย ตรงกันข้ามกลับมีคำถามกลับว่า “แล้วจะเลือกตั้ง ส.ส.ไปทำไม” รวมทั้งการโต้แย้งกลับ กรณีนายจเด็จชี้ช่องว่า ให้ยกเว้นรัฐธรรมบางมาตรา เพื่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติ แต่โดนสวนกลับว่า ให้ยกเว้นมาตรา 272 คือ ส.ว.งดเว้นโหวตเลือกนายกฯ จะดีกว่า

ถัดมาคือ การเปิดประเด็นของนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.อีกคน ที่แสดงจุดยืนไม่โหวตเลือกนายพิธา และเป็นรองประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภาอีกคน

โดยยืนยันเมื่อไปออกรายการทีวีรายการหนึ่งว่า ขณะนี้มีกระแสกลุ่มประชาชนที่จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ พร้อมมากที่จะเคลื่อนเข้ากรุงเทพฯ เพราะไม่พอใจที่นายพิธา และพรรคก้าวไกล ยังมีนโยบายแตะต้อง มาตรา 112 แม้จะไม่อยู่ใน MOU แต่เป็นนโยบายที่พรรคก้าวไกลระบุว่า จะลุยเดี่ยว

หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับบ้านเมืองจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยอีกครั้งได้ แม้พิธีกรจะพยายามแย้งว่า คิดไปไกลเกินไปหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ ย้ำว่า ตนทำงานกับประชาชนมา 20-30 ปี ย่อมรู้ว่ากระแสเป็นอย่างไร

แม้ตัวเขาจะย้ำว่า ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งและรุนแรงเกิดขึ้นอีก แต่นัยในคำยืนยัน ย่อมถูกมองได้ว่า เป็นการข่มขู่หรือส่งสัญญาณปลุกม็อบกลุ่มขวาจัดให้ลุกฮือ อย่างปฏิเสธไม่ได้

จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภาคส่วนต่าง ๆ พึงต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งที่ในสถานการณ์ในปัจจุบัน ผ่อนคลายลง ไม่ขัดแย้งรุนแรงเหมือนในช่วงหลายปีก่อน และเป็นช่วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังชนะการเลือกตั้ง ต้องอาศัยเวลาบ้าง ขณะที่หลายพรรคที่แพ้เลือกตั้ง ก็อยู่สงบนิ่ง คล้ายให้โอกาสในที

การเคลื่อนไหว หรือทำ “ปืนลั่น” ในที อาจถูกมองเชื่อมโยงไปยังขั้วรัฐบาลเดิม หรือรัฐบาลรักษาการ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้ แม้อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย

แต่อาจพลอยฟ้าพลอยฝน โดนกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากส.ว.เหล่านี้ ล้วนแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามแต่งตั้งทั้งสิ้น

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง