ให้เลือดให้ชีวิต "วันบริจาคโลหิตโลก 14 มิ.ย.

สังคม
9 มิ.ย. 66
16:00
828
Logo Thai PBS
ให้เลือดให้ชีวิต "วันบริจาคโลหิตโลก 14 มิ.ย.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
14 มิ.ย. ของทุกปี "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" ย้ำเตือนความสำคัญการบริจาคโลหิต โลหิต 1 ถุง ช่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต ให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อิ่มเอมใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

วันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) เพื่อให้เห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต ขอบคุณต่อผู้บริจาคโลหิต รวมทั้งเพื่อเป็นการระลึกถึง ดร.คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ แพทย์ชาวออสเตรีย ผู้ค้นพบหมู่โลหิตระบบ ABO ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO), สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC), สหพันธ์ผู้บริจาคโลหิตระหว่างประเทศ (FIODS) และสมาคมบริการโลหิตระหว่างประเทศ (ISBT) จึงได้ขอความร่วมมือให้สภากาชาดทั่วโลก จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมงานบริการโลหิตให้เป็นที่แพร่หลาย 

สำหรับในประเทศไทย สภากาชาดไทย จัดงานวันผู้บริจาคโลหิตโลก ครั้งแรกเมื่อปี 2547 และจัดมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 19 แล้ว

ข้อควรรู้ เกี่ยวกับการบริจาคโลหิต

เลือดช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยชีวิตผู้คนหลายล้านคนทุกปี รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการทางการแพทย์และการผ่าตัดที่ซับซ้อน  

"โลหิต" หรือ "เลือด" จำเป็นและสำคัญในการใช้รักษาผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่มีการคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนได้ จึงต้องมีการรับบริจาคเพื่อให้ได้มาใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย

การบริจาคโลหิต คือ การสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคโลหิต เพราะร่างกายของแต่ละคนมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ร่างกายจะใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ 

เราสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เมื่อบริจาคโลหิตออกไปแล้ว ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทน ทำให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม หากไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัวเพราะหมดอายุ

กระบวนการในการบริจาคโลหิตตั้งแต่เริ่มลงทะเบียนจนบริจาคโลหิตเสร็จสิ้น ใช้เวลาประมาณ 20 นาที เจ้าหน้าที่จะเลือกเจาะโลหิตที่เส้นโลหิตดำบริเวณแขน แล้วเก็บโลหิตบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ประมาณ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค

- การบริจาคโลหิตเป็นเรื่องจำเป็น และยังไม่มีสิ่งใดทดแทนได้

- ผู้ป่วยต้องการโลหิตทุกวินาที

- ได้ทราบข้อมูลสุขภาพของตัวเอง

- ได้ทราบระบบหมู่โลหิต ทั้งระบบ ABO และ Rh

- ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และทำให้มีความสุข ส่งผลให้สุขภาพดี

- บริจาคโลหิต 1 ถุง ช่วยผู้ป่วยได้อย่างน้อย 3 ชีวิต 

อิ่มใจผู้ให้ สุขใจผู้รับ

การบริจาคโลหิตช่วยชีวิตคนที่ต้องการเลือดเพื่อรักษา เรียกได้ว่า อิ่มอกอิ่มใจ ได้ทั้งผู้รับและผู้ให้ 

นายสมรักษ์ ผู้รับโลหิตจากโรงพยาบาลของรัฐคนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยรับเลือด กระทั่งแพทย์ระบุว่า ป่วยเป็น "ธาลัสซีเมีย" และมีเลือดน้อย ต้องรับเลือดจากผู้อื่น จึงเริ่มรับเลือดมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

รู้สึกเป็นบุญคุณกับชีวิตมาก เพราะผู้บริจาคโลหิตแต่ละคน ต้องเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เขาจะต้องดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อให้ร่างกายผลิตเลือดทดแทน และนำเลือดมาบริจาคให้เรา ก็ได้แต่นึกขอบคุณเสมอมา และอวยพรให้ผู้ที่บริจาคโลหิตทุกคนมีสุขภาพที่ดีเสมอ

นายสมรักษ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราสามารถตอบแทนได้ คือ ทำแต่สิ่งที่ดีอย่างอื่น หรือทำหน้าที่การงานให้เต็มความสามารถ ช่วยเหลือผู้อื่น เพื่อตอบแทนความดีของผู้บริจาคโลหิต และพยายามส่งต่อข้อความการบริจาคโลหิตและการขอรับบริจาคโลหิตตลอดเวลาเท่าที่จะทำได้

สอดคล้องกับ น.ส.เจนจิรา ในฐานะผู้ให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการบริจาคโลหิต แม้เป็นคนกลัวเข็มฉีดยามากตั้งแต่เด็ก แต่จุดที่ทำให้ก้าวข้ามความกลัวและตัดสินใจบริจาคเลือดครั้งแรก คือ ช่วงที่มีโอกาสไปดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งรักษาตัวใน รพ. ครั้งนั้นพ่อต้องรักษาโดยพลาสมาและจำเป็นต้องใช้เลือด นั้นทำให้เราเห็นว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อผู้ป่วย ตนขอบคุณคนที่ให้เลือด 

น.ส.เจนจิรา ยังเล่าว่า ทุกครั้งที่บริจาคเลือดจะรู้สึกภูมิใจโดยเฉพาะเมื่อได้รับข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ว่า โลหิตของตัวเองมีคุณภาพและได้ส่งไปใช้รักษาผู้ป่วยแล้ว นอกจากนี้ ตนเองมีกรุ๊ปเลือด AB ก็ยิ่งภูมิใจมากขึ้น เพราะเข้าใจว่ากรุ๊ปนี้เป็นที่ต้องการมากและเป็นหมู่เลือดที่พบน้อยกว่ากรุ๊ปอื่น

อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการบริจาคโลหิต แค่ 1 หยดโลหิต ก็ช่วยต่อชีวิตเพื่อนคนได้

บริจาคเลือดเตรียมตัวอย่างไร

ก่อนบริจาคเลือด ต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง หากอยู่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ขนมหวาน ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง ก่อนบริจาคเลือด และก่อนเจาะเลือดบริจาคให้ดื่มน้ำ 3-4 แก้ว ซึ่งเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปในการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น เพื่อลดการเป็นลมหลังบริจาคเลือด งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดสูบบุหรี่ทั้งก่อนและหลัง บริจาคโลหิต 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคเลือด สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบ ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมขณะบริจาคโลหิต ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก หากมีอาการผิดปกติระหว่างบริจาค เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที

หลังบริจาคเลือด นอนพักที่เตียง 5 นาที หากไม่มีอาการผิดปกติ จึงลุกจากเตียง และไปนั่งพัก 10 -15 นาที พร้อมดื่มเครื่องดื่ม และรับประทานอาหารว่าง ดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก วันละ 1 เม็ด หลังอาหารจนหมด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงที่สูง อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลม งดกิจกรรมหรือทำงานที่มีความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับ ความเร็ว ความสูงเครื่องจักรกล งดออกกำลังกายที่ทำให้เสียเหงื่อ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง

กรุ๊ปไหนให้เลือดใครได้บ้าง

  • กรุ๊ปเลือด O ให้เลือดได้กับทุกหมู่เลือด จนมีคำเรียกว่าเป็น ผู้ให้สากล (Universal Door)
  • กรุ๊ปเลือด AB ให้เลือดได้กับกรุ๊ป AB ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดนี้สามารถบริจาคเลือดได้ และเป็นที่ต้องการมาก เพราะเป็นหมู่เลือดที่พบน้อยกว่ากรุ๊ปอื่น
  • ระบบอาร์เอชลบ (Rh) แบ่งหมู่เลือดเป็น อาร์เอชบวก (Rh positive) พบมากในคนไทยส่วนใหญ่ และ อาร์เอชลบ (Rh negative) พบได้น้อยเพียง 0.3% หรือ 1-3 คน/ 1,000 คน

กรุ๊ปเลือด + - คือระบบกรุ๊ปเลือดที่เรียกว่า อาร์เอช (Rh) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • หมู่เลือด Rh + คือเลือดที่มีแอนติเจน (Antigen) Rh อยู่บนเซลล์เม็ดเลือดแดง แต่ไม่มีแอนติบอดี (Antibody) Rh ในน้ำเลือด
  • หมู่เลือด Rh - คือเลือดที่ไม่มีแอนติเจน (Antigen) Rh อยู่บนเซลล์เม็ดเลือดแดง และไม่มีแอนติบอดี (Antibody) Rh ในน้ำเลือด แต่สามารถสร้างแอนติบอดีได้เมื่อได้รับแอนติเจน (Antigen) Rh

ทั้งนี้ เราสามารถรู้หมู่เลือดตัวเองได้ก็ต่อเมื่อตรวจสอบที่สถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองเท่านั้น

โลหิต 1 ถุง นำไปช่วยผู้ป่วยได้อย่างไรบ้าง?

การจัดหาโลหิตบริจาคให้เพียงพอและปลอดภัยต่อทั้งผู้ให้และผู้รับ จากผู้มีจิตศรัทธาที่มีสุขภาพดี แบ่งเป็นสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยการรับโลหิตต่อเนื่องตลอดชีวิตกว่าร้อยละ 23 และอีกร้อยละ 77 สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุเพื่อใช้ในการผ่าตัด ซึ่งมักจะเป็นการใช้โลหิตในปริมาณมากและเร่งด่วน รวมถึงโรคนานาชนิด คือ ในบางช่วงอาจเกิดโรคระบาดที่ต้องการใช้โลหิต เช่น โรคไข้เลือดออก ทำให้ปริมาณการใช้โลหิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง สามารถปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิตได้มากกว่า 3 ส่วน ช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกมากมาย เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการ ผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร
  • พลาสมา นำไปรักษาผู้ที่มีอาการช็อกจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิต 3 ชนิด ได้แก่ แฟกเตอร์ 8 (Factor VIII) รักษา โรคฮีโมฟีเลีย เอ อิมมูโนโกลบูลิน (IVIG) รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง อัลบูมิน (Albumin) รักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก และโรคตับ

มีโรคประจำตัว บริจาคโลหิต ได้หรือไม่

  • เบาหวาน หากควบคุมได้ด้วยการรับประทานยา ไม่มีการฉีดยาอินซูลิน และไม่มีปัญหาโรคแทรกซ้อน สามารถบริจาคโลหิตได้
  • ความดันโลหิตสูง สามารถบริจาคโลหิตได้ หากควบคุมระดับความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด (systolic ไม่เกิน 160 มม.ปรอท diastolic ไม่เกิน 100 มม.ปรอท) และไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ไขมันในเลือดสูง สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • Hyperthyroid สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติโดยแพทย์ให้หยุดยารักษา อย่างน้อย 2 ปี (ทั้งนี้ หากมีสาเหตุจากมะเร็งหรือโรคทางภูมิคุ้มกัน ให้งดบริจาคโลหิตถาวร)
  • Hypothyroid สามารถบริจาคโลหิตได้ถ้ารักษาจนระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติ โดยไม่มีการปรับยา ภายใน 8 สัปดาห์
  • โรคลมชัก สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้าหยุดยากันชักโดยไม่มีอาการชัก มาอย่างน้อย 3 ปี และต้องมีใบรับรองจากแพทย์ผู้รักษามายืนยัน
  • โรคมะเร็งทุกชนิด งดบริจาคโลหิตถาวร แม้ได้รับการรักษาหายแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ที่มี ประวัติป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก โรคโควิด-19  ใน 1 เดือนที่ผ่านมา โดยโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก ให้งดบริจาคโลหิต 1 เดือนหลังหายดีแล้ว กรณีติดเชื้อโควิด-19 งดบริจาคโลหิต 14 วัน นับตั้งแต่หายป่วย และไม่มีอาการใด ๆ หลงเหลืออยู่

ที่มา : เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติสภากาชาดไทย

อ่านข่าวอื่นๆ :

ปฏิทินมิถุนายน 2566 เช็กวันหยุดราชการ วันหยุดธนาคาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง