ค้าความเชื่อ "หินพระธาตุสามร้อยยอด"

สังคม
10 ส.ค. 66
16:18
4,322
Logo Thai PBS
ค้าความเชื่อ "หินพระธาตุสามร้อยยอด"
เรื่องเล่าปาฏิหาริย์ ทำให้ “หินพระธาตุ” จากอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมจากคนบางกลุ่ม ผลประโยชน์และความเชื่อ ที่อาจหมายถึงการสูญเสียบันทึกชั้นดีทางธรณีวิทยา

คดี “หินศักดิ์สิทธิ์” อช.เขาสามร้อยยอด

คดีลักลอบตัดหินพระธาตุ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำรวจพบการลักลอบเปิดบ่อตัดหินในเขตอุทยานฯ มากกว่า 20 บ่อ

ช่วงเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่พบบ่อตัดหินใหม่เพิ่ม 5 บ่อ จับผู้ต้องหาลักลอบตัดหินได้ 9 คน ใน 3 คดี ทั้งหมดถูกดำเนินคดีข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2562 กรณีกระทำการที่ทำให้เสื่อมสภาพ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม

 

“บ่อหิน” แต่ละบ่อมีขนาดแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่ หน้าหินจะถูกแบ่งตัดเป็นก้อนขนาดไล่ๆ กัน เปิดไปยังชั้นหินที่อยู่ลึกลงไปจนมีสภาพเป็นบ่อ หินจะถูกตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยม น้ำหนักก้อนละ 20 – 30 กิโลกรัม เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้าย

หินเป้าหมาย หรือ ที่เรียกกันว่า “หินพระธาตุ” ต้องมีเม็ดกลมๆ แทรกอยู่ในเนื้อหิน ราคาขายอยู่ที่หลักหมื่นบาท แต่ถ้าได้มาจากบริเวณที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ถ้ำมังกร ราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก

เมื่อ “หินพระธาตุ” ถูกนำไปแกะสลักเป็นวัตถุมงคลต่างๆ ราคาขายบางชิ้นสูงถึงหลักแสนบาท กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวไต้หวันและชาวจีน มีออเดอร์สั่งซื้อไม่ขาดสาย

 

นายพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ บอกว่าผู้ลักลอบตัดหินจะใช้เครื่องตัดหญ้า โดยเปลี่ยนจากใบพัดเป็นเลื่อยวงเดือน บางจุดมีการขึงผ้าใบระหว่างตัดหินเพื่อบังตาเจ้าหน้าที่ เพราะหากถูกจับซึ่งหน้า จะถูกดำเนินคดี ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 19(1) กรณีกระทำการใดๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม จะมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง คือ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 – 2,000,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

เรื่องเล่าปาฏิหาริย์ ชนวน ค้า “หินพระธาตุ”

หลายคนรู้จักหินพระธาตุสามร้อยยอด จากเรื่องเล่าที่ว่า มีนายพรานพบเห็นเก้ง ในเขตเขาสามร้อยยอด จึงขึ้นนกสับไกปืนขึ้นเล็งเตรียมที่จะยิง เมื่อได้จังหวะจึงเหนี่ยวไกออกไปปรากฏว่า กระสุนปืนด้าน ยิงไม่ออก เก้งรู้ตัวก็วิ่งหนีไป

นายพรานติดตามเก้งตัวเดิมไปไม่ลดละ แต่เกิดปรากฏการณ์แบบเดิมซ้ำๆ หลายครั้ง คือ กระสุนปืนด้านยิงไม่ออก จึงทดลองหันปากกระบอกปืนไปทางอื่น ปรากฏว่ายิงได้ตามปกติ นายพรานจึงตัดสินใจสะกดรอยตามเก้งตัวนั้นไป จนพบว่า เก้งไปกินน้ำจากโขดหินที่มีลักษณะแปลกตา คือ มีก้อนหินเม็ดกลมๆ เล็กๆ ฝังอยู่ภายในโขดหิน

เรื่องเล่าเกี่ยวกับเก้งตัวนี้ก็แพร่ไปในกลุ่มพรานป่า โดยเฉพาะเสียงร่ำลือถึงพลังอำนาจด้านคงกระพันชาตรี ทำให้ “หินพระธาตุ” จากเขาสามร้อยยอด กลายเป็นที่ต้องการ และ เรื่องเล่าปาฏิหาริย์จึงกลายเป็นจุดขายของ “หินพระธาตุสามร้อยยอด” จนทุกวันนี้

 

หลังจากพบคดีลักลอบตัดหินบ่อยครั้ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดพิธีพราหมณ์บวงสรวง ขอขมาพ่อปู่เขาสามร้อยยอด เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มีเป้าหมายเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ป้องกันปราบปราม และ ต้องการส่งสัญญาณเตือนไปยังขบวนการลักลอบตัดหินพระธาตุ นัยว่าเป็นการใช้ความเชื่อสู้กลับ ป้องปรามผู้กระทำผิดอีกทางหนึ่ง

นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ กำชับให้ทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านว่า การลักลอบตัดหินในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ส่งผลให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ หรือส่งผลต่อระบบนิเวศ แม้ว่า หิน ไม่ได้เป็นของป่าหวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ แต่มีโทษหนักตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และเตือนผู้รับซื้อหินจากผู้ลักลอบตัดหิน ถือว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิด หากมีหลักฐานเชื่อมโยงถึงกัน ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ความจริงเกี่ยวกับ “หินพระธาตุ”

เป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า อาจบอกเล่ากันมา วิเคราะห์แล้วมันก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในกระบวนการของการเกิดถ้ำ พบได้ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง แต่เราจะเจอในถ้ำหินปูนทั่วประเทศเลย

นี่คือ ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ได้จากนายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เมื่อถามถึง “ หินพระธาตุสามร้อยยอด”

ส่วนประกอบหลักๆ ของหินพระธาตุ คือ สารหินปูน ที่สำคัญคือ แร่แคลไซต์ ที่เป็นแร่องค์ประกอบหลักของหินปูนที่ทำให้เกิดถ้ำ นอกจากนั้นยังพบสิ่งที่คาดว่าเป็นเศษกระดูกสัตว์ขนาดเล็กในถ้ำ ปรากฏเป็นเสี้ยนขาวๆ ปะปนอยู่ด้วย

 

เฉพาะเม็ดกลมๆ ที่แทรกอยู่ในเนื้อหิน นักธรณีวิทยา เรียกว่า “ไข่มุกถ้ำ” ซึ่งเกิดขึ้นตามกระบวนการธรรมชาติ มีทั้งไข่มุกบัวลอย ที่เกิดจากเศษเม็ดทราย เม็ดดินเล็กๆ เคลือบด้วยน้ำที่มีสารหินปูนเข้มข้น ส่วนหินพระธาตุที่ได้รับความนิยม นักธรณีวิทยาเรียกว่า ไข่มุกน้อยหน่า มีสารประกอบจากน้ำหินปูนและแร่ดินเหนียว

อีกแบบคือไข่มุกเคลือบผลึก พัฒนามาจาก ไข่มุกบัวลอย และ ไข่มุกน้อยหน่า ไข่มุกถ้ำทุกแบบพบได้ในถ้ำหินปูนตามธรรมชาติทั่วโลก โดยเกิดขึ้นตามกระบวนการธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์อย่างที่หลายคนร่ำลือ

รู้จักภัยคุกคาม “บันทึกถ้ำ”

 

นักธรณีวิทยา ให้ความรู้ว่า หิน คือบันทึกชั้นดีของถ้ำ เพราะอาจนำมาใช้ศึกษาด้านโบราณคดี วิวัฒนาการของเปลือกโลก สภาพภูมิอากาศ หรือ สภาพแวดล้อม สิ่งมีชีวิตของโลกในอดีตได้

เช่นกรณีหินพระธาตุเขาสามร้อยยอด น่าถูกนำมาจากบริเวณที่เคยเป็นพื้นถ้ำหินปูนเก่าที่เป็นถ้ำแห้ง การลักลอบตัดหินพระธาตุ จึงหมือนเรากำลังสูญเสียร่องรอยหลักฐานที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยาไปอย่างน่าเสียดาย

ความเชื่ออาจทำลายถ้ำ ความสวยงามคือภัย คนอยากได้ สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งธรรมชาติ ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อะไรเลย เกิดขึ้นได้ทั่วโลกไม่เฉพาะที่สามร้อยยอด

นอกจากนี้ การทำกิจกรรมในถ้ำอย่างไม่เหมาะสม เช่น การเข้าไปตั้งสำนักสงฆ์ จุดธูปเทียนในถ้ำ การติดไฟส่องสว่าง หรือ เขียนป้ายบอกเส้นทาง กิจกรรมเรียงหินเป็นชั้นๆ ก่อเป็นเจดีย์ที่พบเห็นทั้งในและนอกถ้ำหลายแห่ง รวมถึงการนำหินงอกหินย้อยในถ้ำหินปูนมาทำมวลสารวัตถุมงคล จะทำให้ทรัพยากรเปลี่ยนสภาพและส่งผลต่อระบบนิเวศในถ้ำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง