"ซูเปอร์บลูมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกสุดในรอบปี คืนวันที่ 30 ส.ค.66

Logo Thai PBS
"ซูเปอร์บลูมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกสุดในรอบปี คืนวันที่ 30 ส.ค.66
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชวนชมปรากฏการณ์ส่งท้ายเดือน ส.ค.66 "ซูเปอร์บลูมูน" ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี เริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เย็นวันที่ 30 ส.ค. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 31 ส.ค. ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) (สดร.) ชวนมองท้องฟ้าชมปรากฏการณ์ส่งท้ายเดือน ส.ค.2566 กับปรากฏการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน" คืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 ส.ค.

ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon)

ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15%

เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 ส.ค. ตั้งแต่เวลา 18.09 น. จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 ส.ค. ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย 

อ่านข่าว : ชวนมองท้องฟ้าเดือน ส.ค.2566 ชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์

สดร. ยังอธิบายว่า บลูมูน (Blue Moon) ไม่ได้หมายถึง ดวงจันทร์สีน้ำเงิน ในทางดาราศาสตร์แล้ว บลูมูน หมายถึงดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ซึ่งนานทีจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึง อะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที

คำว่า "บลูมูน" มาได้อย่างไร

สำนวนนี้มาจากเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2426 เกิดการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่ขึ้น ทำให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ ลอย ขึ้นไปในอากาศ เกิดการกระเจิงแสง และทำให้มองเห็น "ดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน" จากนั้นจึงนำคำว่า "บลูมูน" มาใช้เรียกปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงในครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน

บลูมูน

บลูมูน

บลูมูน

บลูมูนครั้งนี้ นับเป็นบลูมูนในรอบ 3 ปี ครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ต.ค.2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย

ส่วนปีนี้ตรงกับช่วง "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" (Super Full Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า Super Blue Moon นอกจากจะเป็นดวงจันทร์ครั้งที่ 2 ของเดือนแล้ว ยังเป็นดวงจันทร์ที่ขนาดปรากฏจะใหญ่กว่าปกติ และแน่นอนว่าเป็นดวงจันทร์สีขาวเหมือนทุกวัน

ชี้พิกัด จุดสังเกตการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน"

ทั้งนี้ทาง NARIT เตรียมจัดสังเกตการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน" ในคืนวันที่ 30 ส.ค.ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น.

ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร.

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา 
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา  
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา  

หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง