วันนี้ (30 ส.ค.2566) ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีเผารถยนต์ตำรวจ หมายเลขดำ อ.1847/2565 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้องวัยรุ่นชาย 4 คน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย, ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2565 ต่อเนื่องกัน ถึงเวลากลางคืน จำเลยกับพวกประมาณ 50-80 คน ซึ่งรวมเยาวชนชายอีก 2 คน ซึ่งถูกแยกตัวดำเนินคดีได้ร่วมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปมั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวาย ทำกิจกรรมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ถนนวิภาวดี ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญกำลังตำรวจที่มารักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ พวกจำเลยยังร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์รถยนต์ตราโล่หมายเลขทะเบียน 07444 และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 กจ 5593 กทม. ของตำรวจที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่จนได้รับความเสียหายเป็นเงิน 91,692 บาท
ในวันนี้ จำเลยทั้ง 4 พร้อมทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานโจทก์จำเลยทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีตำรวจ 4 นาย ที่อยู่ในเหตุการณ์เบิกความในข้อเท็จจริงมีรายละเอียดสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุ มีการชุมนุมปราศรัยที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 18.00 น.
ต่อมาหลังจากตรวจสอบภาพวงจรปิดและภาพจากสื่อออนไลน์พบว่า มีผู้ชุมนุมประมาณ 50-80 คนขี่รถจักรยานยนต์ มาร่วมกันมั่วสุมชุมนุมก่อความวุ่นวายที่บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 โดยมีการขวางปาสิ่งของ ยิงลูกแก้วหนังสติ๊ก ปะทัดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ที่จำเลยที่ 1, 3 และ 4 อ้างว่าแค่ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น ไม่ได้เผาทำลายรถยนต์ 2 คัน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นฟังไม่ขึ้น เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำผิดตามฟ้องจริง
ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 3 และ 4 กระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำคุก ฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นบทหนักสุด ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1, 3 และ 4 มีอายุ 18-19 ปีเศษ ย่อมรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว เห็นควรให้จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 4 ปี คำเบิกความของจำเลยทั้ง 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้คนละ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 3 ปี ไม่รอลงอาญา
ส่วนจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้เพียงว่า กระทำผิดฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจที่บอกให้หยุดแต่ไม่ยอมหยุดเท่านั้น ไม่ปรากฏภาพว่า จำเลยที่ 2 ร่วมวางเพลิงเผาทรัพย์รถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 1 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา
หลังรับฟังศาลตัดสินคดีแล้วเสร็จ ทนายความของจำเลยทั้ง 4 ได้ยื่นประกันตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์สู้คดี ต่อมาทนายความจำเลยทั้ง 4 ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นควรส่งคำร้องของจำเลยทั้ง 4 ให้ศาลอุทธรณ์ พิจารณาเพื่อมีคำสั่ง ซึ่งอาจจะใช้เวลาพิจารณา 1-2 วัน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงนำตัวจำเลยทั้ง 4 ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในระหว่างรอคำสั่งของศาลอุทธรณ์
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
-