แบงก์ชาติ-คลัง ประสานเสียงวิกฤตหนี้กรีซไม่กระทบไทย แต่ต้องจับตาใกล้ชิด
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปจะไม่ปล่อยให้ปัญหาวิกฤตหนี้ของกรีซบานปลาย จึงไม่กระทบตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ถือเป็นบทเรียนเตือนประชาชนถึงการเลือกรัฐบาลที่ใช้นโยบายประชานิยมจนเกินขอบเขต
อย่างไรก็ตามนายสมหมายยอมรับว่า ไทยกำลังเผชิญภาวะเงินฝืดจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมทั้งกำลังซื้อและการส่งออกชะลอตัว แต่ไม่เข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังได้กำชับหน่วยงานรัฐ 14 แห่งให้เร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ขณะที่นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแม้วิกฤตหนี้กรีซไม่กระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรง แต่กระทบภาคการเงินและการค้าทางอ้อมในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกและการปล่อยสินเชื่อหรือลงทุนของสถาบันการเงินไทยในสินทรัพย์ของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปมีน้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของสินทรัพย์รวม แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเงื่อนไขการเจรจาชำระหนี้ สร้างความกังวลในตลาดทุนและตลาดเงินผันผวนระยะสั้น และอาจมีเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนของภูมิภาคและไทยแต่ไม่รุนแรง เพราะนักลงทุนต่างชาติปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยไปค่อนข้างมากแล้วประกอบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งอยู่ในระดับสูงเกือบ 1.8 แสนล้านบาท เพียงพอต่อการรองรับความผันผวนจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน แต่แบงก์ชาติจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หากปัญหาขยายวงกว้างไปประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซน
สำหรับความเคลื่อนไหวในกรีซวันนี้ ผู้นำกรีซเปิดการหารือกับผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศ เพื่อชี้แจงถึงยุทธศาสตร์การเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ หลังชาวกรีกส่วนใหญ่มีมติเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2558 ไม่ยอมรับเงื่อนไขเงินกู้ของกลุ่มเจ้าหนี้ ขณะที่รัฐมนตรีคลังของยูโรโซนออกแถลงการณ์ต้องการเห็นข้อเสนอใหม่ของกรีซภายในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ค.2558)
รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรหรือ ยูโรโซน ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางยูโรกรุ๊ปจะหารือถึงสถานการณ์ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการลงประชามติของกรีซ โดยทางกลุ่มยูโรกรุ๊ปคาดว่าจะได้รับข้อเสนอการปฏิรูปฉบับใหม่จากรัฐบาลกรีซภายในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือว่ายูโรโซนจะจัดการกับสถานการณ์ของกรีซอย่างไรต่อไป
นายอเล็กซานเดอร์ สตับบ์ รัฐมนตรีว่าการกรทรวงการคลังฟินแลนด์ระบุว่า ขณะนี้ กรีซจะต้องเป็นฝ่ายที่ตัดสินใจและไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเศรษฐกิจของกรีซจะต้องเผชิญกับการปฏิรูปที่เข้มข้นมากขึ้น
ขณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคของกรีซ ได้เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับนายอเล็กซิส ซีพราส นายกรัฐมนตรี หลังจากทราบผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการ ซึ่งการหารือในครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเจรจาต่อรองกับกลุ่มเจ้าหนี้พร้อมกับขอการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ในประเทศ
นายฮวน ปาโบล โบโฮ-สลาฟ-สกี้ ผู้ชำนาญการอิสระขององค์การสหประชาชาติด้านหนี้สินต่างประเทศและสิทธิมนุษยชน ออกมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปอย่าหลงลืมบทบาทของกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนและควรให้เรื่องนี้มีบทบาทสำคัญทางการเงินของกรีซด้วย เนื่องจากหากสหภาพยุโรปเรียกร้องให้เพิ่มมาตรการรัดเข็มขัดมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมและความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจของกรีซจะฟื้นตัวก็น้อยลงตามไปด้วย
ขณะที่นายเฮนริค เอ็นเดอร์ไลน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยการปกครองเฮอร์ไท ในกรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ระบุว่า 48 ชั่วโมงนับจากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะการที่ชาวกรีกมีมติไม่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มเจ้าหนี้ จะทำให้การกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาเป็นเรื่องที่ยาก
เนื่องจากการเจรจาทุกครั้งที่ผ่านมารัฐบาลกรีซจะเป็นฝ่ายที่ระบุว่าไม่สามารถยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวได้ กรีซไม่ต้องการการเจรจาอีก ไม่มีถ้อยคำที่นำไปสู่ข้อตกลงที่สร้างสรรค์ แม้ว่าการลงมติของชาวกรีกจะถือเป็นชัยชนะของกรีซ เขาคิดว่ามีความเป็นไปได้ร้อยละ 80 ที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซน ซึ่งสถานการณ์นี้ถือเป็นเรื่องอันตรายสำหรับกลุ่มยูโรโซนเช่นกัน
ผลจากการลงประชามติของกรีซส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียวันนี้ปรับตัวลดลงตามความคาดหมายโดยดัชนีนิคเคอิของญี่ปุ่นปิดตลาดปรับตัวลดลงร้อยละ 2.08 ปิดที่ 2,112.12 จุด เช่นเดียวกับดัชนีคอมโพสิตในเกาหลีใต้ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.04 ปิดที่ 2,053.93 จุด ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวันปรับตัวลดลง 102.27 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 1.09 ปิดที่ 9,255.96 จุด
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ในฝั่งยุโรป ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงแต่ไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุเป็นเพราะบางฝ่ายเชื่อว่าแม้กรีซจะไม่ยอมรับเงื่อนไขเงินกู้งวดใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่ากรีซจะต้องออกจากยูโรโซน เช่น ดัชนีฟุตซี่ 100 ของอังกฤษปรับตัวลดลงร้อยละ 1.07 อยู่ที่ 6,515.67 จุด
นายโอลิวิเยร์ ปาเซอ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทให้คำปรึกษาแซร์ฟีในฝรั่งเศสมองว่า ผลการลงประชามติที่ออกมาในรูปนี้ทำให้สถานการณ์ของกรีซซับซ้อนมากขึ้น แม้ว่าซีพราสจะเชื่อว่าการลงมติไม่รับเงื่อนไขเงินกู้จะทำให้รัฐบาลกรีซมีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้น คือ กลุ่มเจ้าหนี้จะยอมเจรจากับกรีซหรือไม่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความยากลำบากต่อธนาคารกลางยุโรปที่จะเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารในกรีซ ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการได้ธนาคารในกรีซจะล่มสลายทั้งระบบหรือหากกรีซหันไปใช้สกุลเงินใหม่แทนเงินยูโร ก็จะทำให้ในระยะยาวมีปัญหาค่าเงินตกต่ำ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ส่งผลให้ชาวกรีกยากจนลงไปอีก
หากสถานการณ์พัฒนาไปถึงขั้นที่กรีซจะต้องออกจากยูโรโซนจริงๆ แม้ว่ากรีซจะไม่ต้องการออก ในขณะที่สหภาพยุโรปก็ไม่มีกลไกในการขับกรีซออกจากสมาชิกภาพ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นประเทศสมาชิกของยูโรโซนจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ รวมถึงเงินกู้ที่ให้กรีซไปแล้วกว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมด 3 แสนล้านยูโรก็อาจจะไม่ได้คืนด้วยเช่นกัน