“แจกแหลก” เอาใจสุดขั้ว เงินดิจิทัล-ขึ้นเงินข้าราชการ “รัฐบาลเศรษฐา” พร้อมเปย์

การเมือง
6 พ.ย. 66
16:23
1,363
Logo Thai PBS
“แจกแหลก” เอาใจสุดขั้ว เงินดิจิทัล-ขึ้นเงินข้าราชการ “รัฐบาลเศรษฐา” พร้อมเปย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นับตั้งแต่วันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ถึงวันนี้กว่า 2 เดือนเศษ

“รัฐบาลเศรษฐา” เริ่มเดินหน้าโครงการต่าง ๆ มากมาย นอกจากการเดินทางไปพบปะผู้นำประเทศต่าง ๆเพื่อหารือทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท

โครงการแจกเงินยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องแหล่งเงินที่นำมาแจก และไม่รู้ว่าจะลงเอยอย่างไร หลังรัฐบาลประกาศ 3 แนวทาง แบ่งเกณฑ์ การรับเงินดิจิทัล

1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะใช้งบประมาณ 1.6 แสนล้านบาท
2.กลุ่มเงินเดือยมากกว่า 25,000 บาท หรือมีเงินฝาก 1 แสนบาท จะใช้งบฯ 4.3 แสนล้านบาท
3.กลุ่มเงินเดือนมากกว่า 50,000 บาท หรือมีเงินฝาก 5 แสนบาท จะใช้งบฯ 4.9 แสนล้านบาท

จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ตอนจะแจกเงินกลับเลือกว่าใครควรจะได้ ไม่ควรได้”

รัฐบาลแบ่งกลุ่มคนว่าเป็นคนรวย คนจน แต่พอต้องใช้หนี้กลับให้ทุกคนต้องเสียภาษีเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่มีรายได้มากก็เสียภาษีมากกว่า

ล่าสุด นิด้าโพล เปิดผลสำรวจเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2566 ระบุว่า ร้อยละ 50.08 ระบุว่า ควรจ่ายทุกกลุ่มโดยไม่ต้องมีเกณฑ์เงินเดือน หรือเงินฝากในบัญชีมาเป็นข้อจำกัด

ส่วนเกณฑ์พื้นที่หรือรัศมีการใช้จ่ายเงิน ร้อยละ 69.85 บอกว่า ควรใช้จ่ายในร้านค้าใดก็ได้ ในประเทศไทย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่หรือรัศมีมากำหนด

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ร้อยละ 62.60 ระบุว่า ต้องใช้จ่ายเงินภายใน 6 เดือน

ผ่านมาเพียงวันเดียว ในโลกออนไลน์ก็มีเอกสารใหม่ “เรื่องใหม่” แพร่สะพัดออกมาอีก ระบุว่า เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเกิดกระแสวิจารณ์เป็นวงกว้าง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาแถลงว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในที่ประชุม ครม.ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหน อาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้

เอกสารระบุว่า วันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา นายธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505 /ว(ล) 23425 เรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ถึงนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, รมว.คลัง, รมว.แรงงาน, ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ

เอกสารอ้างถึงการประชุมครม. เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ เสนอว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น จึงขอมอบหมาย

ให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

ให้นายปานปรีย์ รับไปเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทางกรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือน และรายงานให้ครม.ทราบ ภายในเดือน พ.ย.

ได้แต่จับตามองว่า ผลจะออกมาอย่างไร จะแบ่งข้าราชการจำนวน 1.7 ล้านคน ออกเป็นกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเงื่อนไขอย่างไร เกณฑ์การขึ้นเงินเดือนคืออะไร

เพราะทุกวันนี้ มีทั้งข้าราชการกลุ่มตุลาการ ข้าราชการพลเรือน ครู ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ซึ่งแต่ละหน่วย ฐานเงินเดือนก็ต่างกัน เงินส่วนอื่น ๆ ก็แตกต่างกัน

นี่ยังไม่นับ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ฯลฯ อีกกว่าล้านคน

เหตุใดจึงต้องจับตามอง เพราะ “เงินเดือนข้าราชการ” ไม่ใช่จบแค่การขึ้นครั้งนี้ แต่หมายถึง “บำเหน็จ-บำนาญ” ที่ประเทศจะต้องรับผิดชอบไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย

นี่เพิ่งผ่านมาได้แค่ 2 เดือนเศษ เตรียมจัด 2 โปรเจคใหญ่ พร้อมเปย์ ที่ไม่รู้ว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ และยังไม่ได้เริ่ม “ทำงาน” ที่คนได้ประโยชน์ “ทั้งประเทศ” เสียที เห็นทีน่าห่วงอนาคต “ฯพณฯ” อย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง