จากกรณีเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) แถลงผลการจับกุมนายพศิน อายุ 41 ปี มีอาชีพเป็นนายหน้าประกันภัย โดยมีพฤติกรรมลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไปขายให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ ทำให้ลูกค้าอาจได้รับความเสียหาย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีบทบาทหน้าที่ในการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยกับประชาชน เห็นว่ากระทำของบุคคลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการนำระบบประกันภัยเข้าไปบริหารความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้สายตรวจสอบคนกลางประกันภัย ร่วมกับสายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตของผู้ถูกจับกุมรายนี้ทันที
จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏพบว่า นายพศิน เป็นตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ซึ่งกระทำความผิดจริง โดยนายพศิน ได้รับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกการตรวจค้น/ตรวจยึด/จับกุม ฉบับลงวันที่ 5 พ.ย.2566 โดยอาศัยประโยชน์จากการที่ตนเองเป็นตัวแทนประกันชีวิต สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เอาประกันภัยและมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย กล่าวคือ การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ ของผู้เอาประกันภัย เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้กับบริษัทประกันชีวิตที่เป็นต้นสังกัด ด้วยการลักลอบนำข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนกับบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด
จากการตรวจสอบข้อเท็จเพิ่มเติมพบว่า ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการเสนอขายประกันภัยเพียงบางส่วน และบางส่วนนายพศิน ได้หามาจากตลาดมืดเพื่อประสงค์เอามาใช้ในการเสนอขายประกันภัยเพื่อประโยชน์ของตนเองและได้นำข้อมูลมาขายให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพ และจากการสอบข้อเท็จจริงจากบริษัทประกันภัยพบว่า ตั้งแต่นายพศิน เป็นตัวแทนของบริษัทถึงปัจจุบัน ได้มีการเสนอขายประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพียง 11 รายเท่านั้น
การกระทำดังกล่าวของนายพศิน จึงเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยกำหนดตามมาตรา 79/1 ในประการที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน และเป็นการดำเนินงานที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 81/1 (2) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบข้อ 37 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก และเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและการดำเนินการของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ.2563
มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ประกอบกับกรณีดังกล่าวเป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยให้ล่าช้าออกไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามมาตรา 30 (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงเห็นสมควรเพิกถอนใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตของนายพศิน พร้อมลงประกาศหรือโฆษณาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตของตัวแทนประกันชีวิตรายนี้ในเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยรายอื่นหรือประชาชนในวงกว้างต่อไป
ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตรายดังกล่าว จะไม่สามารถกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยหรือขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ