"ชัยธวัช" อัดงบฯ ปี 2567 เบี้ยหัวแตก หัวข้อสวยหรู ไส้ในไร้เป้าหมาย

การเมือง
3 ม.ค. 67
12:57
378
Logo Thai PBS
"ชัยธวัช" อัดงบฯ ปี 2567 เบี้ยหัวแตก หัวข้อสวยหรู ไส้ในไร้เป้าหมาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ชัยธวัช" อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2567 เลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ เป็นเบี้ยหัวแตก หัวข้อสวยหรู แต่ไส้ในไร้เป้าหมาย-ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาวิกฤตปากท้องประชาชน สังคมถูกตอกย้ำให้อยู่กับกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน

วันนี้ (3 ม.ค.2567) เวลา 11.30 น. นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า เป็นงบฯ กว้าง ๆ ดูเนื้อหาแล้วเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีลำดับความสำคัญ

นายชัยธวัช กล่าวย้อนไปถึงวันที่ 11 ก.ย.2566 ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่า ไทยเผชิญความท้าทายทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ โดยมี 3 สถานการณ์วิกฤต คือ รัฐธรรมนูญ ปัญหาปากท้อง และความขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐบาลมีกรอบนโยบายบริหารและพัฒนาประเทศตามความเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ก่อนจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ ในวันนี้ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย.2566 ครม.ได้มีมติสั่งทบทวนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวใหม่ โดย เห็นชอบให้ปรับปรุงปฏิทินงบฯ ทบทวนแนวทางจัดทำงบฯ และยุทธศาสตร์จัดสรรงบฯ รายจ่ายประจำปี 2567 ใหม่ ซึ่งรัฐบาลมีเวลา 3 เดือนในการปรับปรุง แต่สุดท้ายพบว่า แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างน้อย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ควรยึดโยงนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มี ทั้งการแก้ปัญหาหนี้สินภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน

เนื้อในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ เป็นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ หัวข้ออาจสวยหรู แต่เนื้อใน ไส้ในตอบไม่ได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายทางนโยบายอย่างไร

นายชัยธวัช กล่าวว่า เช่นเดียวกับนโยบายเร่งด่วนที่ระบุว่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยเฉพาะค่าไฟ เพราะขณะนี้นโยบายลดค่าไฟของรัฐบาล คือการผลักให้ กฟผ.ต้องยอมรับภาระ แต่ไม่มีการตั้งงบฯ ชดเชยหนี้ให้ กฟผ.จากนโยบายลดค่าไฟฟ้า สุดท้ายจะใช้งบกลาง หรือรอไปอีก 3-4 เดือน จน กฟผ.รับภาระไม่ไหว และยุตินโยบายนี้

นอกจากนี้ นายชัยธวัช ยังกล่าวถึงนโยบายให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากจะไปสู่จุดนั้นในปีนี้ ต้องทำประชามติอย่างน้อย 2-3 ครั้ง แต่ไม่มีการตั้งงบฯ เรื่องนี้ ส่วนนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ยืนยันว่าไม่กู้เงิน และจะใช้การบริหารงบประมาณปกติ แต่ในวันนี้ชัดเจนว่าไม่มีการตั้งงบฯ ใด ๆ ในร่าง พ.ร.บ.นี้

ถ้าดูในภาพรวมในร่าง พ.ร.บ.นี้ วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท พบว่าเป็นงบฯ เบี้ยหัวแตก สะเปะสะปะ ไม่มียุทธศาสตร์ เหมือนทำงานอย่างไม่มีวาระเป้าหมายชัดเจน หลายเรื่องหน้าปกดูดี แต่ไส้ในไม่ได้ยึดโยงเป้าหมายทางนโยบาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการเดิม ๆ แต่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนปกแบบมั่ว ๆ ก็มี แถมนับรวมทุกรายจ่ายแล้วเครมว่าเป็นงบฯ ใหม่สำหรับการลงทุนในรัฐบาลใหม่

นายชัยธวัช กล่าวว่า มี 2,000 โครงการ ที่ตั้งงบฯ รายจ่ายไว้ มีโครงการใหม่เพียง 200 โครงการ แทบทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลชุดใหม่ แต่มีหน่วยรับงบประมาณใหม่ ไม่ใช่การผลักดันเพื่อขับเคลื่อนวาระใหม่ของรัฐบาล รวมทั้งมีปัญหาการจัดทำงบฯ คาดการณ์รายได้เกินจริงไปมาก ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพื่อทำแผนรายจ่ายได้สูงขึ้น แต่ในฝั่งรายจ่ายกลับตั้งงบฯ ที่ต้องจ่ายแน่ ๆ ไว้ไม่เพียงพอ เช่น เงินเดือนข้าราชการ เงินสวัสดิการ เงินบำเหน็จบำนาญ สุดท้ายต้องไปตั้งรายจ่ายชดเชยเงินคงคลังทีหลัง

ผู้นำฝ่ายค้าน ยังระบุว่า มีงบฯ ที่ควรคาดการณ์ได้ว่าต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น งบฯ ตอบสนองนโยบายการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ค่าชดเชยภาษีรถ EV นโยบายลดค่าไฟที่ต้องชดเชยหนี้ให้ กฟผ. งบฯ ซอฟต์ พาวเวอร์ ก็ไม่มีในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้ รวม ๆ ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท สุดท้ายต้องใช้งบกลาง และเป็นรายจ่ายชดเชยเงินคงคลังในปีถัด ๆ ไป ซึ่งทำไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

วันนี้พวกเราไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม หรือทำให้สถานการณ์เรื่องระบบนิติรัฐ นิติธรรมในประเทศย่ำแย่ลง เพราะสังคมถูกตอกย้ำให้อยู่กับกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน เรือนจำมีไว้ให้กับประชาชนที่ไม่มีอำนาจเงินทอง

นายชัยธวัช กล่าวว่า ปัญหาของ พ.ร.บ.งบฯ ยังสะท้อนปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือ รัฐบาลชุดนี้เป็นเพียงรัฐบาลรวมการเฉพาะกิจ ไม่มีเป้าหมายทางวาระนโยบายที่จะขับเคลื่อนรวมกัน เรียกว่าแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ชั่วคราว จึงเห็นการตั้ง ครม.แบบผิดฝาผิดตัว เพราะแบ่งตามโควตา ไม่ใช่การบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายเรือธง จึงเห็นการจัดสรรงบฯ เป็นแบบที่ได้กล่าวไว้ จากที่เคยบอกว่า "คิดใหญ่ ทำเป็น" บางวันก็เป็น "คิดไป ทำไป" "คิดสั้น ไม่คิดยาว" "คิดอย่าง ทำอย่าง" หากการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้มีวาระรวมกันจริง ๆ เห็นว่าเป็นวาระเพื่อแก้วิกฤตทางอำนาจของชนชั้นนำ เพราะเป็นการรวมตัวเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทย ต่อต้านพลังทางสังคมแบบใหม่ ๆ

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวปิดท้ายการอภิปรายว่า รัฐบาลต้องปฏิรูปรัฐไทยอย่างจริงจัง เพราะหลังรัฐประหาร 2 ครั้ง ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ของไทยเติบโตขึ้นอีกครั้ง ดูจากงบฯ รายจ่ายบุคลากรภาครัฐในรอบ 10 ปี มีบุคลากรเพิ่มขึ้น 5 แสนคน ปัจจุบันมีภาระรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ถึง 40% ของงบฯ ร่ายจ่ายประจำปี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เศรษฐา" ร่ายยาวแจงใช้งบปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท 

ฝ่ายค้าน ประสานเสียงอัดรัฐบาลทำงบฯปี 2567 ไม่ตรงปก 

เปิดงบฯ ปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท กับ 6 ยุทธศาสตร์ 63 แผนงาน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง