กสม.ชี้เยียวยาล่าช้า 50 ปีพิพาทที่ดินเขื่อนศรีนครินทร์

สิ่งแวดล้อม
19 ม.ค. 67
14:00
359
Logo Thai PBS
กสม.ชี้เยียวยาล่าช้า 50 ปีพิพาทที่ดินเขื่อนศรีนครินทร์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสม.ชี้ภาครัฐเยียวยาล่าช้า 50 ปีปมอพยพชาวบ้านเปิดทางสร้าวเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ชี้ประชาชน 900 ครัวเรือนไร้สิทธิที่ดินทำกินทั้งที่ 16 ปีก่อนเคยมีข้อสรุปให้เร่งแก้ จ่อชงครม.-ทส.เร่งแก้ผลกระทบ

วันนี้ (19 ม.ค.2567) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กรณีกสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน มี.ค.2566 เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน สำหรับผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์จ.กาญจนบุรี โดยเร่งด่วน แต่ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชน 900 ครัวเรือน เนื่องจากการดำเนินงานที่ล่าช้าของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ผู้ถูกร้อง) และข้าราชการที่มีหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขปัญหา จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง และตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมบริเวณพื้นที่พิพาทมีราว 15,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สงวนหวงห้ามไว้ใช้ในราชการทหาร

จนกระทั่งเมื่อเดือน ส.ค.2517 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้นำที่ดินบริเวณดังกล่าวไปจัดสรรให้แก่ประชาชนที่อพยพจากน้ำท่วม เนื่องจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์  900 ครอบครัว และให้จัดทำใบสำคัญกรรมสิทธิให้แก่ประชา ชนที่เข้าไปอยู่ทำประโยชน์จริงภายในเวลาอันสมควร

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ต่อมามีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษีและป่าเขาบ่อแร่ ในท้องที่ ต.ชะแล ท่าขนุน หินดาด ลิ่นถิ่น อ.ทองผาภูมิ ต.เขาโจด นาสวน ด่านแม่แฉลบ หนองเป็ด ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ และต.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 มีผลให้พื้นที่พิพาทเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

และได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนการหวงห้าม ที่ราชพัสดุที่ได้หวงห้ามไว้เพื่อประ โยชน์ในราชการทหารในท้องที่ ต.นาสวน และต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พ.ศ.2529 มีผลให้พื้นที่จัดสรรไม่เป็นที่ดินราชพัสดุ แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ทำให้ประชาชน ผู้ได้รับการจัดสรรไม่อาจนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิได้ และการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า

กางไทม์ไลน์ 16 ปีกสม.เสนอให้แก้ปัญหา 

ต่อมาเมื่อปี 2548 ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงร้องเรียนต่อ กสม. ซึ่งได้ตรวจสอบและมีความเห็นว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดิน ทับซ้อนที่ดินที่จัดสรรให้แก่ผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์

และการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนศรี นครินทร์ที่ล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่อผู้ถูกร้องให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาการกันแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ลงวันที่ 14 ก.ย.2550

รวมทั้งคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและต้องอพยพจากการก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ด้วยเช่นกัน

กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า นับแต่เมื่อปี 2517 ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบให้นำที่ดินพิพาทไปจัดสรรให้แก่ประชาชน ที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ จากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ทั้ง 900 ครอบครัว ซึ่งรวมครอบครัวของผู้ร้องด้วย

จนกระทั่งปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนานถึง 50 ปี ประกอบกับเมื่อปี 2550
กสม.ได้มีข้อเสนอแนะให้กรมอุทยานฯ ผู้ถูกร้อง แก้ไขปัญหาการทับซ้อนที่ดินพิพาทระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์กับพื้นที่ที่ประชาชนได้รับการจัดสรร

กระทั่งถึงปี 2566 ประชาชนผู้ร้องได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ซึ่งผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกือบทั้งหมดเห็นด้วยกับการดำเนินการของผู้ถูกร้อง ที่จะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา สำหรับกันพื้นที่พิพาทออกจากเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ต่อครม.อันจะมีผลทำให้ประชาชนในพื้นที่พิพาท สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้

นับเป็นระยะเวลายาวนานถึง 16 ปีแล้ว นับแต่ กสม.ได้มีข้อเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใด จึงส่งผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สิน และสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมอุทยานฯ ให้เร่งเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ แปลงที่ 2 ป่าโรงงานกระดาษไทย แปลงที่ 6

รวมทั้งป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ แปลงที่ 1 ในท้องที่ต.เขาโจด นาสวน ด่านแม่แฉลบ แม่กระบุง อ.ศรีสวัสดิ์ และ ต.สหกรณ์นิคม หินดาด ลิ่นถิ่น ทองผาภูมิ และต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งจะมีผลเพิกถอนพื้นที่เขตอุทยานเขื่อนศรีนครินทร์  14,786 ไร่ เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอต่อ ครม.พิจารณาอนุมัติต่อไป

นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อ ครม.ให้พิจารณาอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่ โดยเร่งด่วน

พร้อมให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพออกจากพื้นที่ที่สร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ตามคำสั่ง จ.กาญจนบุรี ที่ 2266/2566 เร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับเอกสารสิทธิในที่ดินที่ได้รับจัดสรรโดยเร็ว หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง