ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวบ้านกังวล "โคบาลชายแดนใต้" วัวขายไม่ได้ ไม่มีเงินใช้หนี้

ภูมิภาค
26 ม.ค. 67
10:34
1,087
Logo Thai PBS
ชาวบ้านกังวล "โคบาลชายแดนใต้" วัวขายไม่ได้ ไม่มีเงินใช้หนี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ราวคอกเหล็กชั้นล่าง กับขอบรางอาหารแคบ ทำให้วัวบางตัวต้องคุกเข่ากินหญ้าในคอกกลาง ที่ใช้งบก่อสร้างกว่า 350,000 บาท ของเกษตรผู้เลี้ยงวัว ที่บ้านโคกกอ ต.ลุโบะยือไร อ.มายอ จ.ปัตตานี

โรงเรือนแห่งนี้ถูกผูกมัดด้วยสัญญา หลังชาวบ้านที่เข้าร่วมกลุ่มในระยะนำร่อง 16 กลุ่ม ที่ จ.ปัตตานี ทำไว้บริษัทเอกชน ซึ่งอยู่ในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ที่ระบุว่า ชาวบ้านจะต้องกู้เงินผ่านกองทุนสงเคราะห์เกษตรกลุ่มละ 1,500,000 บาท

โดย 350,000 บาท คือ การก่อสร้างโรงเรือน และ 850,000 บาท ใช้จัดซื้อแม่พันธุ์วัว โดยทั้งสองส่วนงาน ทำสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดวิชัยฟาร์ม

ชาวบ้านบอกว่า รับวัวมาเลี้ยง ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2566 ปีที่แล้ว โดยแม่พันธุ์วัวมีน้ำหนักน้อยกว่า 160 กิโลกรัม ซึ่งไม่ตรงตามสัญญา แม้จะพยายามขุนให้กินหญ้าสด 3 ครั้งต่อวัน ก็ยังมีขนาดเล็ก ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้บริษัทเข้ามาเยียวยา

โดยบริษัทจะชดเชยเงินค่าดูแลวัวให้ 50,000 บาท และจะเพิ่มวัวให้อีก 5 ตัวเพื่อยุติปัญหา แต่ชาวบ้านหลายคนก็ยังกังวล เพราะในอีก 3 ปีข้างหน้าก็ต้องจ่ายคืนหนี้ที่ยืมมา

ตอนนี้พวกเรากังวลว่า เมื่อถึงเวลาจ่ายหนี้ วัวขายไม่ได้ เพราะมันไม่สมบูรณ์ แล้วถ้าขายไม่ได้ พวกผมจะหาเงินจากไหนมาจ่ายหนี้เค้า

ว่าที่ ร.ท.รังสฤษดิ์ จันทร์งามวิจิตร สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านโคกกอ อ.มายอ จ.ปัตตานี กล่าว

ปัญหาที่ต้องเลี้ยงวัวที่โตช้าและไม่สมบูรณ์ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มที่เกินระยะเวลาประกัน กับบริษัท ที่จะเปลี่ยนวัวให้ หากรับวัวไปแล้วไม่เกิน 1 เดือน ทำให้สมาชิกในกลุ่มเลี้ยงโคบ้านโคกกอ กำลังหารือว่า อาจต้องขายวัวบางส่วนออกไป เพื่อซื้อแม่พันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงกว่า

แม้ราคาขายจะถูกกว่าครึ่งหนึ่งที่ซื้อมาในโครงการตัวละ 17,000 บาท แต่เงื่อนไขของโครงการโคบาลชายแดนใต้ ที่ต้องซื้อแม่พันธุ์วัวจากนอกพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะโครงการมีเจตนาเพิ่มปริมาณวัวในพื้นที่ ก็ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือกมากนัก

ถ้าจำเป็น เราก็ต้องขาย เพราะต้องเอาแม่พันธุ์อื่นที่สมบูรณ์กว่านี้ แม้ว่าถ้าขายแล้วจะได้ราคาตัวละไม่ถึง 10,000 บาท จากที่ซื้อมา 17,000 บาท ก็ต้องประชุมกลุ่มอีกที ว่าจะทำยังไง แต่ก็เพิ่งมาทราบว่า ถ้าซื้อก็ซื้อแม่พันธุ์วัวตัวใหม่ จากในพื้นที่ไม่ได้

นายอาริ มีสาและ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านโคกกอ อ.มายอ จ.ปัตตานี กล่าว

แม้ขณะนี้ปศุสัตว์จังหวัด ตัวแทนบริษัทจะเจรจากับเกษตรกร 16 กลุ่ม ที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ในระยะนำร่องของ จ.ปัตตานี ซึ่งแต่ละกลุ่มเรียกร้องการเยียวยาแตกต่างกันไป

แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดปัตตานี เห็นว่า ข้อตกลงในการเจรจา ควรทำเป็นลายลักษณ์ เพื่อเป็นหลักประกันให้ชาวบ้าน และตรวจสอบถึงช่องว่างอื่น ๆ

โดยเฉพาะบัตรประจำตัวสัตว์ที่พบว่า ทุกกลุ่มข้อมูลไม่ตรงกับวัวที่ได้รับ ขณะที่ผู้ประสานงานของคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ในโครงการนี้เช่นกัน เพราะในระยะที่ 2 จะมีการขยายกลุ่มเกษตรอีก 400 กลุ่ม ซึ่งจะมีวัวถูกส่งมาให้ชาวบ้านอีกกว่า 20,000 ตัวใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้านนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ที่ปรากฏข่าวว่า การจัดหาแม่โคใน “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อในโครงการ โดยมีลักษณะซูบผอม เพื่อสืบหาทราบว่า การจัดหาพันธุ์สัตว์ในโครงการมีปัญหาอุปสรรคใด หรือมีข้อบกพร่องใด

ซึ่งโครงการนี้ กรมปศุสัตว์ดำเนินการร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจ ฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โดยยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กรอบวงเงิน 1,566.20 ล้านบาท การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท

โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในหมู่บ้าน จะได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในระดับต้นน้ำ กลุ่มละ 1.55 ล้านบาท เพื่อดำเนินกิจกรรม 4 กิจกรรม ดังนี้

1.จัดทำแปลงพืชอาหารสัตว์ กลุ่มละไม่น้อยกว่า 20 ไร่ เงินกู้ยืม 100,000 บาท
2.ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงโคเนื้อ (คอกกลาง) จำนวน 1 โรงเรือน เงินกู้ยืม 350,000 บาท
3.จัดหาแม่โคพื้นเมือง จำนวน 50 ตัว ตัวละไม่เกิน 17,000 บาท เงินกู้ยืม 850,000 บาท
4.การจ้างเจ้าหน้าที่ฟาร์ม จำนวนไม่เกิน 3 คน เงินกู้ยืม 250,000 บาท

ส่วนกรณีกลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานีบางกลุ่มร้องเรียนว่า “แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มมีลักษณะซูบผอม น้ำหนักไม่ตรงกับที่กำหนดในคุณลักษณะเฉพาะของแม่โคเนื้อในโครงการ” กรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า การจัดหาพันธุ์สัตว์ในโครงการที่ใช้เงินนอกงบประมาณ กล่าวคือ เป็นเงินกู้ของเกษตรกรจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร

โดยให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เองตามคุณลักษณะเฉพาะ ที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยกำหนดสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกันหากไม่ถูกต้องตามที่กำหนดผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร

ส่วนข้อร้องเรียน กรมปศุสัตว์ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นพบว่า ช่วงระยะเวลาที่ได้ทยอยส่งมอบ และตรวจรับแม่โค ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2566 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2567 เป็นช่วงเวลาที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบสภาวะฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีน้ำท่วมขังซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์บางส่วนของโครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแม่โคมีความเครียด ได้รับอาหารไม่เพียงพอ และบางตัวป่วย

อย่างไรก็ตาม จะตั้งคณะกรรมการไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยร่วมกับ ศอ.บต. และกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่า มีปัญหาอุปสรรคอื่นใดอีกหรือไม่ หากกรณีที่เกิดขึ้น มาจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด อีกทั้งจะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามและประเมินผลโครงการเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกร

เรียบเรียง : ติชิลา พุทธสาระพันธ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง