ไทย-กัมพูชา เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปรอบใหม่ 7 ก.พ.นี้

การเมือง
5 ก.พ. 67
18:15
1,123
Logo Thai PBS
ไทย-กัมพูชา เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปรอบใหม่ 7 ก.พ.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) ถูกนำมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อพล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาไทยในวันที่ 7 ก.พ.นี้

การพบกันระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ไม่ใช่ครั้งแรก หลังจากนายเศรษฐา เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เดินทางไปเยือนประเทศกัมพูชาประเทศแรกเช่นกัน 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย

หากมองความสัมพันธ์ในทางการเมืองระหว่างประเทศ ปฎิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทย และอดีตผู้นำกัมพูชามีความใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา

หรือภาพการปรากฏตัวในงานวันเกิด ที่จัดเลี้ยงแบบส่วนตัวของสมเด็จฮุน เซน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นในช่วงเวลาที่พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้ารัฐบาล จึงถูกมองว่า การเจรจาจะราบรื่นเป็นไปด้วยดีหรือไม่ ความขัดแย้งในอดีต จะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และมีปัจจัยอะไรสำหรับการเจรจาครั้งนี้ ทีมข่าวไทยพีบีเอสเวิลด์ คุยกับ ทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

รอยร้าวในอดีต ไทย-กัมพูชา

ที่ผ่านมา เรื่องเขตแดนถูกนำไปยึดโยงกับการเมืองในประเทศ ของทั้งกัมพูชา และประเทศไทย
ไทยมีความขัดแย้งเสื้อเหลือง–เสื้อแดง ส่วนกัมพูชา ก็มีพรรคของประชาชนกัมพูชา กับฝ่ายค้าน

ถ้าจำได้ ในกัมพูชามีการโฆษณาก่อนการเลือกตั้ง ปี 2003 ว่าประเทศไทยจะทวงเขาพระวิหารคืน
ดาราไทย ถูกนำไปเกี่ยวข้อง เป็นที่มาของการเผาสถานทูตไทยที่กรุงพนมเปญในครั้งนั้น นั่นคือจุดเริ่มของปัญหา 

ทรงฤทธิ์ มองว่า สิ่งที่เพิ่มความขัดแย้งคือปี 2008 สมเด็จฮุน เซน ที่เสนอให้ยูเนสโก รับรองเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก เลยทำให้ความขัดแย้งกัมพูชา-ไทย บานปลาย และไม่มีการพูดคุยกันอีก

"เราจะเห็นเลยว่าตั้งแต่ปี 2003 เรื่อยมา เรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ผูกกับเรื่องความขัดแย้ง และการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในของแต่ละฝ่าย แล้วมันไม่หยุดหยุดแค่นั้น ฮุน เซน จับคู่กับเสื้อแดง เสื้อเหลืองก็ไม่ถูกกับ ฮุน เซน มันก็เลยเป็นปัญหาผูกกัน"

ทักษิณ – ฮุน เซน สายสัมพันธ์แนบแน่น

การพูดคุยพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีป ที่ถือว่ามีความคืบหน้ามากคือช่วงที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะผลประโยชน์ด้านพลังงาน

ปี 2006 สมเด็จฮุน เซน และ นายทักษิณ พูดคุยถึงพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปจำนวน 26,000 ตารางกิโลเมตร จนสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่ติดไทย ส่วนตรงกลาง และส่วนที่ติดกัมพูชา โดยไทยเสนอว่าหากพบพื้นที่ใกล้ใคร จะได้ส่วนแบ่งที่มากกว่า คือ 70:30 ส่วนพื้นที่ตรงกลางคือ 50:50 แต่ข้อเสนอก็ถูกต่อรองใหม่

นายทักษิณ ชินวัตร และ สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี

นายทักษิณ ชินวัตร และ สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี

นายทักษิณ ชินวัตร และ สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี

"ถ้าเราหันหน้าเข้าหาแผนที่ ซ้ายติดประเทศไทย ขวาติดไปทางกัมพูชา ส่วนตรงกลางก็คืออยู่ระหว่าง 2 ประเทศ ... แต่สิ่งหนึ่งที่มีขึ้นมา ต้องใช้คำว่าความโลภ มีบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งสำรวจแล้วก็ไปกระซิบบอกฮุน เซน ว่าตรงข้างติดทางกัมพูชา มันเหลือเยอะ เพราะฉะนั้นอย่าไปรับ 70:30 ให้รับ 90:10 ตรงนี้มันก็เลยยืดเยื้อ"

"จีน" ตัวแปรสำคัญ

ทรงฤทธิ์ เชื่อว่า แม้ผู้ที่คุมเกมกัมพูชาทั้งหมด คือสมเด็จฮุน เซน เพราะกัมพูชามีบทเรียนสำคัญโดยเฉพาะการที่จีนเข้าลงทุนที่กำโป๊ด สีหนุวิลล์ เพื่อทำโรงกลั่นน้ำมัน แต่เมื่อไม่สามารถเจรจาพื้นที่ทับซ้อนได้ ทำให้โครงการยังไม่เริ่ม

เขายังมองว่าในตอนนี้ สีหนุวิลล์ เกาะกง นอกจากเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นสัมปทานใหญ่ของจีนเกือบทั้งหมด จึงเป็นแรงกดดัน ทำให้สมเด็จฮุน เซน ต้องเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนให้ได้

"ฮุน เซน มีเสถียรภาพอยู่ทุกวันนี้ โดยไม่ต้องกังวลว่ายุโรปหรืออเมริกาจะมากดดันอะไร ไม่ให้อะไร แต่ฉันก็ไม่แคร์ไม่ให้ฉัน ฉันก็ไม่สน เพราะจีนให้ฉันก็พอแล้ว ฉันก็อยู่ได้ ... จีนไม่ได้บอกว่าคุณต้องเคารพ human rights คุณต้องให้ฝ่ายค้านมาเลือกตั้งกับฉัน ไม่มี มันก็เลยสมประโยชน์ เมื่อจีนการันตีความเสถียรภาพของ ฮุน เซน ได้ ฮุน เซน ต้องตอบสนอง"

ต่อไปเราก็จะเห็นท่าเรือใหญ่เกิดขึ้นอีกที่หนึ่ง ที่เกาะกง เขตเศรษฐพิเศษ จีนจะเชื่อมตรงนั้น หรือแม้กระทั่ง จังหวัดพระวิหาร พื้นที่ตรงนั้น จีนสำรวจแล้วเรียบร้อยว่ามันมีเหล็กอยู่เยอะ จีนจะตั้งโรงถลุงเหล็กที่นั่นแล้ว จะทำทางรถไฟจากพระวิหารมาที่เกาะกง เพื่อที่จะขนเหล็ก และอีกสารพัดโครงการ”

ท่าทีที่นุ่มนวลของฮุน มาเนต มากกว่าผู้เป็นพ่อ จะทำให้การพูดคุยยืดหยุ่นมากขึ้น และหากมองแง่การพัฒนา มากกว่าการปักปันเขตแดน ถูกประเมินว่ามีทิศทางด้านบวก รวมถึงสองประเทศเรียนรู้ว่า จะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้อยู่รอด ซึ่งไทยเคยมีกรณีพื้นที่ทับซ้อนทั้งกับเวียดนาม มาเลเซีย ก็สามารถเจรจาได้ โดยที่ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ

พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง