สภามีมติ 269 ต่อ 147 เห็นชอบ รายงานผลการพิจารณาศึกษา "แลนด์บริดจ์"

การเมือง
15 ก.พ. 67
20:17
1,439
Logo Thai PBS
สภามีมติ 269 ต่อ 147 เห็นชอบ รายงานผลการพิจารณาศึกษา "แลนด์บริดจ์"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภา มีมติ 269 ต่อ 147 เห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

วันนี้ (15 ก.พ. 2567) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวาระรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่องการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน โดย สส.พรรคก้าวไกล ทั้ง 3 คนที่ลาออกจาก กมธ.ได้ร่วมกันอภิปรายคัดค้าน

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เล่าถึงเหตุผลที่ลาออก เนื่องจากไม่สามารถให้เหตุผลในรายงานฉบับนี้ได้ ซึ่งแทบจะไม่มีการแก้ไขเลยตั้งแต่ตนลาออกมา โดยเพื่อน สส.ไม่พูดว่ามีธงในการดำเนินการ ตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่ กมธ.ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่มาจากทางฝั่งรัฐบาลจะมีคงมีธงจากบ้านว่าควรจะทำโครงการนี้ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องกังวลใจ คือ ผลการศึกษาที่นำมาสู่ธงนี้ ศึกษาอย่างรอบคอบ ถี่ถ้วน ถูกต้อง มีสมมติฐานที่สมเหตุสมผลหรือไม่

อ่านข่าว : "พิธา" ตั้ง 3 คำถาม ปม "แลนด์บริดจ์" หวั่นกระทบธรรมชาติ-แหล่งท่องเที่ยว 

ตนปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ที่มีการสอบถามหน่วยงานที่รับผิดชอบในการทำรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสารตั้งต้นของรายงานฉบับนี้ว่า ธงที่รัฐบาลให้มาจะสามารถเดินตามธงอยู่ได้อย่างมั่นใจได้อย่างไร แต่ตนกลับไม่ได้คำตอบที่ต้องการ หลายครั้ง หลายวาระที่สอบถาม ก็ถูกตัดการสอบถาม ทำให้ข้อมูลก็ยังไม่ได้ ที่ร้ายแรงกว่านั้น กลับใช้รายงานของ สนข.โดยที่ไม่ได้พิจารณาถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเดินเรือ การคำนวณการเติบโตของท่าเรือ ซึ่งตนยังไม่รู้ว่าจะเชื่อรายงานของสนข.ได้หรือไม่

รายได้ที่เป็นรายได้จากท่าเรือเวอร์มาก สูงมาก ปีแรก บอกว่าจะได้รายได้จากท่าเรือ 58,000 ล้านบาท ดิฉันคิดว่า กมธ.ไม่มีใครทราบนะคะ ยกเว้นที่มาจาก สนข. ถึงจะทราบเรื่องนี้ ในรายงานความก้าวหน้าฉบับที่ 2 ก็ไม่มีเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ดิฉันอ่านแล้ว ไม่มีรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน แต่วันนี้มาแล้วค่ะ 58,000 ล้าน มาจากรายได้ที่มาจากการขายน้ำมัน 50,000 ล้าน และมาจากรายได้ท่าเรือ เพียงแค่ 8,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง 50,000 ล้านที่มาจากการขายน้ำมัน มันจะมาได้อย่างไร ลองคิดดู ถ้าเราไม่มีโรงกลั่นเอง

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนหมดคำจะพูดว่า เราศึกษาอะไรกันอยู่ รายงานฉบับนี้กำลังรับรองความผิดพลาดอะไรกันอยู่ นายกฯจะต้องเอาไปพูดกับต่างชาติเรื่องโครงการนี้ ทั้งที่เนื้อในเป็นแบบนี้ เราไม่ได้ทำเป็นฝ่ายค้าน เราจะต้องค้านทุกเรื่อง แต่เราต้องรักษาภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนายกฯของเราเอาไว้บ้าง ตนไม่ได้มีปัญหาในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ถ้าจะมีการรื้อรายงานใหม่ ตนก็จะยินดีมาก ๆ ที่จะศึกษาใหม่ แล้วมันคุ้มค่า ตนก็ยินดีจะสนับสนุนโครงการใหม่นั้น

อ่านข่าว : เปิดข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ "ระนอง-ชุมพร" ก่อนมีแลนด์บริดจ์ 

ด้านนายจุลพงษ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า โครงการนี้จะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ตนย้ำว่า พรรคก้าวไกลไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ การที่ตนลาออกก็ไม่ได้เพราะเป็นเด็ก โครงการนี้มีหลายหน่วยงานจัดทำรายงาน ทำไมถึงเลือกเอารายงานของ สนข.มาใช้ แล้วโยนผลการศึกษาของสภาพัฒน์ทิ้งไป ทำไมไม่ใส่มาทั้ง 2 หน่วยงานแล้วเปรียบเทียบกัน

ท่านประธานครับ เวลาเราซื้อของเราดูที่ไหน เราเชื่อใจเซลล์แมนใช่มั้ยครับ ท่านนายกท่านก็บอกเองว่าเป็นเซลล์แมนประเทศไทย เพราะฉะนั้นคนที่เขาจะซื้อ เขาต้องมีความเชื่อถือในท่านนายกและตัวเลข

นายจุลพงษ์ ยังระบุว่า ในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมตนได้ให้ผู้เชี่ยวชาญเทียบปริมาณคาร์บอนที่ขนส่งในโครงการแลนด์บริดจ์กับคาร์บอนที่ขนส่งทางเรือที่ช่องแคบมะลากา ซึ่งพบว่า แลนด์บริดจ์สูงกว่า 14 เท่า ตั้งข้อสงสัยว่าแล้วใครจะให้กู้เงิน ตนอยากขอให้เลิกพูดเรื่องตัวเลข ความคุ้มทุน และขอให้พูดเรื่องความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่โครงการนี้เกิดขึ้นมาตนลงพื้นที่ ประชาชนบอกว่ากินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่รู้จะตายที่ไหน ซึ่งความเป็นมนุษย์ของประชาชนในโครงการ เราจะต้องดูแลมากกว่าสิ่งอื่นใด

อ่านข่าว : กาง 4 เหตุผล ภาคประชาชน ค้าน "แลนด์บริดจ์" ชุมพร-ระนอง 

ขณะที่นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนมีประเด็นที่ต้องแจ้ง ประเด็นแรก ตนไม่เคยคัดค้านโครงการ ถ้ามีโครงการแลนด์บริดจ์หรือโครงการที่ทำให้คนใต้รวยได้ ตนยินดีสนับสนุน แต่ตอนนี้ต้องการพิสูจน์ความจริงของตัวเลขรายงานฉบับนี้ ตนต้องการแค่ความถูกต้อง

ประเด็นที่ 2 รายงานรวบรัดการศึกษา และไม่มีการหาความจริงให้รอบด้าน ประเด็นที่ 3 ตนขอเรียกรายงานฉบับนี้ว่าย้อนแย้ง ตัดแปะ และใช้ไม่ได้จริง

จุดแข็งของโครงการ หลีกเลี่ยงปัญหาความติดขัดการเดินเรือในช่องแคบ แต่ความจริง กมธ.ท่านใดไปพิสูจน์ว่าช่องแคบติดขัด เราเห็นกับตาแล้วหรือไม่ เอกชนเขาก็บอกว่า ไม่ได้แออัด คับแคบ ที่มันแออัดจริง ๆ คือ ท่าเรือสิงคโปร์ มันไม่ใช่ตัวช่องแคบ แล้วท่านก็ไม่ไปพิสูจน์ และทุกวันนี้ท่าเรือสิงคโปร์เขาก็มีแผนท่าเรือ เพื่อรองรับเรือเพิ่ม ถ้ามันแคบจนมันไปไม่ได้ จะลงทุนเพิ่มทำไม ง่ายสุด ส่งคนไปไลฟ์สดให้จบตรงนี้ จะได้จบ ๆ ว่ามันแออัดหรือไม่

นายศุภณัฐ ยังกล่าวว่า จำนวนคนสร้างงาน 280,000 คน ไม่ทราบว่านำจำนวนตัวเลขนี้มาจากไหน จะจ้างงานเงินเดือนเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครก็มโนขึ้นมาได้

อ่านข่าว : นายกฯ เผยแบงค์ AIIB พร้อมหนุนไทยลงทุน "แลนด์บริดจ์" 

GDP บอกว่าจะโตจาก 4% ไป 5.5% โอ้โฮ GDP รายไตรมาส ท่านมีปัญญาคำนวณล่วงหน้าขนาดนั้นเลยหรือครับ ไปเอาตัวเลขมาจากไหน แล้วค่าเสียโอกาสจากการท่องเที่ยว อาชีพประมงที่เขาต้องเสียไป สิ่งแวดล้อม ไม่เคยถูกนำมาคำนวณแม้แต่เรื่องเดียว

นายศุภณัฐ ย้ำว่า จะตั้ง กมธ.มาทำไม ถ้าจะยึดตาม สนข.มองว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนร่วม ต้องมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

เราลงทั้งเงิน ทั้งที่ดิน ทั้งสัมปทาน ดีลธุรกิจมาลงทุนแลกกับสัมปทาน เราจำเป็นต้องรู้ต้นทุน รายได้ ค่าเสียโอกาสโครงการว่าเท่าไหร่ นักธุรกิจจะลงทุนต้องมีการต่อรอง ถ้าท่านมั่วจะต่อรองได้อย่างไร เพราะไม่มีหลักการ

จากนั้นเวลา 17.00 น.หลังสมาชิกใช้เวลาอภิปรายแสดงความคิดเห็นนานเป็นเวลา 4.15 ชม.ที่ประชุมมีมติ เห็นด้วยกับรายงาน 269 เสียง ไม่เห็นด้วย 147 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้

อ่านข่าวอื่น ๆ 

ชาวบ้านระบุ “แลนด์บริดจ์” แค่ใบเบิกทาง เลิกกฎหมาย 19 ฉบับ เอื้อกลุ่มทุนอุตฯ

"ศิริกัญญา" โต้ "มนพร" ให้ข้อมูล "แลนด์บริดจ์" ไม่ตรงกัน แนะรื้อทำใหม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง