ไทม์ไลน์ “แคดเมียม” 20 ปี พิษยังไม่แผ่ว

สิ่งแวดล้อม
5 เม.ย. 67
12:26
2,091
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ “แคดเมียม” 20 ปี พิษยังไม่แผ่ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เดือน ม.ค.2547

สถาบันบริหารจัดการน้ำนานาชาติ หรือ อีมี (IWMI-International Water Management Institute) เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลและวิจัยการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในดินและพืชผลการเกษตร บริเวณห้วยแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2545-2546 และสรุปผลการศึกษาออกมาว่า มีการปนเปื้อนสารพิษแคดเมียมในพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะข้าว กระเทียมและถั่วเหลือง เกินกว่าค่ามาตรฐาน

ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านที่บริโภคผลผลิตทางการเกษตรดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิดปกติจากไต เพราะพิษแคดเมียมที่สะสมอยู่ในร่างกายมีผลทำให้เกิดภาวะไตวาย หรือป่วยเป็นโรคอิไตอิไต รวมทั้งส่งผลต่อเลือดและตับ

ทั้งนี้ สันนิษฐานว่า การปนเปื้อนดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำเหมืองสังกะสี ซึ่งมีโครงการขนาดใหญ่ 2 แห่งตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว นั่นคือ เหมืองของบริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และเหมืองของบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ซึ่งปิดกิจการไปก่อนแล้ว

หลังการเปิดเผยของอีมี ทำให้ความหวาดกลัวเกิดขึ้น ทั้งจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห้วยแม่ตาว และผู้ที่ซื้อข้าวจากพื้นที่ดังกล่าวมาบริโภค

อ่านข่าว : สะพรึง! ซุกกากแร่แคดเมียม 1.5 หมื่นตัน สั่งห้ามเข้าใกล้อาคารเก็บ

กรมควบคุมมลพิษและกรมควบคุมโรค จึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลที่ได้ล้วนยืนยันชัดเจนว่า มีการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านแล้ว

ขณะที่ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วยจากภาวะไตวาย ไตเสื่อมและปวดหลัง การแก้ปัญหายังคงไม่คืบหน้า โดยเฉพาะไม่สามารถระบุได้ว่าต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นจากที่ไหน

เหมืองสังกะสีที่ปิดตัวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจากรายการพลิกปมข่าว ออกอากาศวันที่ 24 ส.ค.2563)

เหมืองสังกะสีที่ปิดตัวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจากรายการพลิกปมข่าว ออกอากาศวันที่ 24 ส.ค.2563)

เหมืองสังกะสีที่ปิดตัวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจากรายการพลิกปมข่าว ออกอากาศวันที่ 24 ส.ค.2563)

ตลอดระยะเวลาแห่งความชุลมุน มีเพียงคำยืนยันที่ชัดเจนที่สุดดังขึ้นจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารแคดเมียม อ.แม่สอด ที่ระบุว่า สาเหตุของการปนเปื้อนเกิดจากการทำเหมืองแร่ของทั้งสองบริษัท

โดยมี นายสนธิ คชวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายติดตามตรวจสอบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

จากการติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแนวทางลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งสองบริษัท พบว่า บริษัทผาแดงฯ ไม่ได้ติดตั้งอาคารกรองตะกอนดินทราย ก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำแม่ตาว และมีการเปลี่ยนระบบระบายน้ำและเพิ่มกระบวนการลอยแร่ โดยไม่มีการจัดทำอีไอเอเพิ่มเติม

ส่วนบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด แม้จะเลิกกิจการไปแล้ว แต่ยังมีกองหางแร่ทิ้งเอาไว้จำนวนมาก ทำให้เกิดการชะล้างเมื่อฝนตก จึงถือเป็นความบกพร่องของทั้งสองบริษัทโดยตรง

แต่ต่อมาบริษัทผาแดงฯ ได้ว่าจ้าง ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาหาสาเหตุที่แท้จริงของการปนเปื้อน ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการซื้อเวลาให้สถานการณ์ที่กำลังร้อนแรงค่อยๆ ลดดีกรีลง

ก่อนสรุปผลในเวลาต่อมาว่า “ไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดได้”

เมื่อทั้งสองบริษัท ต่างปฏิเสธที่จะรับผิดชอบกับการปนเปื้อนของสารแคดเมียม ท้ายที่สุดจึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความ

ขณะที่จังหวัดตากก็ควักเงินก้อนโตเพื่อรับซื้อข้าวที่ปนเปื้อนแคดเมียมจากชาวบ้าน เพื่อนำมาทำลายทิ้ง

อ้างอิง : เอกสารมูลนิธิบูรณะนิเวศ

อ่านข่าว : คพ.ชี้ "แคดเมียม" อันตรายพบค่าความเข้มข้น-ยังไม่ปนเปื้อน สวล.

เมื่อยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาว ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากลงมือปลูกข้าวต่อไปแม้จะรู้ว่าที่ดินผืนดังกล่าวปนเปื้อนสารแคดเมียม

ส่วนบริษัทผาแดงฯ ก็จัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลจากอ้อย โดยใช้ชื่อบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เพื่อรับซื้ออ้อยจากชาวบ้านบางส่วน ที่จำต้องเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกอ้อยแทน

แม้การปนเปื้อนสารแคดเมียมในห้วยแม่ตาว ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซัง ทั้งการฟ้องร้องและการฟื้นฟูที่ดูเหมือนจะไร้ความคืบหน้า

แต่ดูเหมือนบริษัทผาแดงฯ จะยืนอยู่เหนือปัญหา เพราะยังคงเดินหน้าการลงทุนต่อไป โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้พื้นที่ป่าไม้ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี กว่า 500 ไร่ เมื่อ 9 ต.ค.2550 ตามมาด้วยการ “อนุมัติ” ให้ต่ออายุประทานบัตรจาก นายสุวิทย์ คุณกิตติ ในฐานะ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อเดินหน้ากิจการเหมืองแร่สังกะสีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีก 25 ปี

อ้างอิงจาก

  • เอกสาร : สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย 2548 มูลนิธิโลกสีเขียว หัวข้อปัญหาสารแคดเมียมปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จ.ตาก หน้า 31-35
  • นิตยสารโลกสีเขียว ปีที่ 13 ฉบับที่ 5 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2547 คอลัมน์เรื่องจากปก เรื่องเหตุเกิดที่ห้วยแม่ตาว “ในน้ำมีปลา ในนามีแคดเมียม”
  • นิตยสารโลกสีเขียว ปีที่ 17 ฉบับที่ 98 พฤษภาคม-มิถุนายน 2551 คอลัมน์ข่าวคืบหน้า เรื่องแคดเมียมกับเหมืองผาแดง
ลำน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจากรายการพลิกปมข่าว ออกอากาศวันที่ 24 ส.ค.2563)

ลำน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจากรายการพลิกปมข่าว ออกอากาศวันที่ 24 ส.ค.2563)

ลำน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก (ภาพจากรายการพลิกปมข่าว ออกอากาศวันที่ 24 ส.ค.2563)

วันที่ 7 ก.ค.2556 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม จากการทำเหมืองของบริษัทเอกชน ยังคงได้รับผลกระทบทั้งเรื่องสุขภาพและรายได้ ที่ไม่สามารถทำนาได้ ขณะนี้จึงได้แต่รอคอยให้ศาลตัดสินเรื่องที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท เมื่อปี 2552 เพื่อเยียวยาและชดเชยสิ่งที่เกิดขึ้น

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านใน ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก กว่า 1,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมปนเปื้อนจากลุ่มแม่น้ำตาว ที่บริษัทเอกชน 2 แห่งปล่อยลงสู่แม่น้ำ ทำให้สุขภาพอ่อนแอลง โดยเฉพาะนายเย็น ใจโน ที่มีอาการเป็นอัมพฤต จึงไม่ได้ไปหาหมอนานกว่า 2 ปีแล้ว

ผลกระทบเรื่องสุขภาพและไม่สามารถปลูกข้าวได้เหมือนในอดีต ทำให้ปี 2552 ชาวบ้านทั้ง 3 ตำบลที่ได้รับผลกระทบกว่า 1,000 คน ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผ่านสภาพทนายความเรียกค่าเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัท ผาแดง อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ที่ได้รับสัมปทานเหมืองแร่สังกะสี ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานจึงหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ผู้บริหารบริษัทสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ยืนยันว่า ที่ผ่านมากระบวนการทำเหมืองมีระบบป้องกันที่ดี จึงเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน และปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

วันที่ 14 ส.ค.2556 ศาลปกครองพิษณุโลกพิพากษาให้ชาวบ้าน 3 ตำบลใน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ชนะคดี ที่ร่วมกันฟ้องร้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และอีกหลายหน่วยงาน โดยให้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าว : รู้จักโลหะหนัก "แคดเมียม" สารตั้งต้น "โรคอิไตอิไต"

ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำพิพากษาให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกกฎกระทรวง กำหนดพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันคดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง

วันที่ 6 มิ.ย.2562 ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อม พิพากษาให้บริษัท ผาแดงอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ร่วมกันจ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านใน ต.แม่กุ พระธาตุผาแดง และแม่ตาว ที่ได้รับความเจ็บป่วยจากสารแคดเมียม 20 คน เป็นเงินตั้งแต่ 20,200-104,000 บาท

เดือน ส.ค.2566 เริ่มมีการขนย้ายกากแคดเมียม ที่บรรจุในถุงบิ๊กแบ็ก จาก อ.เมืองตาก จ.ตาก ไปยัง จ.สมุทรสาคร

วันที่ 3 เม.ย.2567 กระทรวงอุตสาหกรรม เชิญคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล

วันที่ 4 เม.ย.2567 ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร มีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ 90 วัน ส่วนกรมควบคุมมลพิษประชุมผู้เกี่ยวข้องถึงการขนกลับไปยัง จ.ตาก และกระทรวงสาธารณสุข ตรวจร่างกายคนงานที่อยู่ในโรงงาน

อ่านข่าวอื่นๆ

สธ.ตรวจ 11 คนงานเสี่ยงสัมผัสแคดเมียมรอผล 7 วัน

รมว.อุตฯ ลุยตรวจโรงงานแคดเมียม ยึดใบอนุญาตถ้าพบทำผิด

ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ประกาศห้ามเข้าพื้นที่โรงงาน 90 วัน กรณีพบกากแคดเมียม 1.5 หมื่นตัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง