โพลสงกรานต์ 2567 คนไทยอยากรดน้ำขอพรพ่อแม่-ญาติผู้ใหญ่

สังคม
12 เม.ย. 67
08:40
412
Logo Thai PBS
โพลสงกรานต์ 2567 คนไทยอยากรดน้ำขอพรพ่อแม่-ญาติผู้ใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เสริมศักดิ์" เผยโพลสงกรานต์ ปี 2567 ชี้คนไทยอยากรดน้ำขอพร "พ่อแม่-ญาติผู้ใหญ่" มากที่สุด 91.73% นอกจากเล่นสาดน้ำ เน้นกิจกรรมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และกลับภูมิลำเนา พร้อมให้หน่วยงานคุมเข้มดื่มไม่ขับ อย่าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า

วันนี้ (12 เม.ย.2567) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนที่มีต่อ “ประเพณีสงกรานต์ ปี 2567 หลังจากได้ขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 18,623 คน ครอบคลุมทุกภูมิภาค

ผลสรุปปรากฏว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าประเพณีสงกรานต์มีความสำคัญ ร้อยละ 71.22 คือ เป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย ร้อยละ 69.48 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างชัดเจนสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ เป็นความงดงาม ซึ่งบ่งบอกถึงคุณลักษณะของความเป็นไทย เช่น ความกตัญญู ความโอบอ้อมอารี ความเอื้ออาทร ความสนุกสนานร่าเริง และร้อยละ 59.75 เป็นวันครอบครัว เพราะเห็นว่าช่วงดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรัก ความอบอุ่น ที่จะได้พบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมร่วมกัน

นอกจากการเล่นน้ำสงกรานต์ เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ นิยมทำกิจกรรมใดในช่วงประเพณีสงกรานต์มากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 70.91 คือ การทำบุญตักบาตร ตามด้วยร้อยละ 67.72 การสรงน้ำพระ และร้อยละ 67.17 กลับภูมิลำเนา

ส่วนคำถามว่าต้องการรดน้ำขอพรบุคคลใดในปีนี้ ผลสรุปชี้ว่า อันดับ 1 ร้อยละ 91.73 คือ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่, ร้อยละ 46.47 ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ และร้อยละ 37.41 พระสงฆ์ นอกจากนี้ ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ในสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ ร้อยละ 62.55 วัด, ร้อยละ 48.89 บ้าน และร้อยละ 47.27 สถานที่ที่มีการจัดงาน

เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าค่าใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ปีนี้ คาดว่าจะใช้จ่ายเฉลี่ย 5,975 บาท เช่น ค่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าอาหาร/เครื่องดื่ม และค่าซื้อสินค้า/บริการ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.80 ทราบว่าสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยยูเนสโก และเห็นด้วยกับการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. รวม 21 วัน ร้อยละ 76.24 ตลอดจนคิดว่างานประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น/คึกคัก ร้อยละ 84.29

เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับแนวทางในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ พ.ศ.2567 โดยให้สอดคล้องกับแนวคิดกับการจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ 2567” 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 68.29 ให้พิจารณาจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ที่เป็นการสร้างการรับรู้ต่อประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยได้รับการประกาศจาก UNESCO อันดับ 2 ร้อยละ 53.46 ให้พิจารณาจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ เน้นเรื่องคุณค่าและสาระที่ถูกต้องของวัฒนธรรม ประเพณี และอันดับ 3 ร้อยละ 51.45 ส่งเสริมให้จังหวัดต่าง ๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์

อีกทั้งยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อดูแลเป็นพิเศษในช่วงเทศกาล ได้แก่ ร้อยละ 77.36 อุบัติเหตุทางการจราจร เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนกฎจราจร ร้อยละ 61.99 การดื่มสุรา/จำหน่ายสุรา และร้อยละ 45.53 พ่อค้าแม่ค้า ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าและบริการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงกรานต์ กทม.118 จุด ปิดถนนสีลม 2 วัน 13-14 เม.ย. 

มิตรภาพหนึบ! คืนนี้รถแน่นทยอยกลับบ้านฉลองสงกรานต์ 

นักท่องเที่ยวคึกคักสงกรานต์หาดใหญ่ น้ำราคาพุ่งถังละ 500-1,000 บาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง