ไม่ใช่ฝนเทียม! นักวิทย์ฯ มอง "โลกร้อน-ระบายน้ำยาก" จมดูไบ

ต่างประเทศ
19 เม.ย. 67
14:41
4,472
Logo Thai PBS
ไม่ใช่ฝนเทียม! นักวิทย์ฯ มอง "โลกร้อน-ระบายน้ำยาก" จมดูไบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิกฤตน้ำท่วมในดูไบ มีการตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้เมืองในตะวันออกกลางกลายสภาพเป็นทะเล ว่าเกี่ยวข้องกับอะไรได้บ้าง ประเด็นหนึ่งคือ "การทำฝนเทียม" แต่นักวิทยาศาสตร์-ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพูดตรงกันว่า สาเหตุหลักมาจากปัญหาภาวะโลกร้อน

ปัญหาฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมเป็นเรื่องปกติในบ้านเรา แต่สำหรับตะวันออกกลางที่ขึ้นชื่อเรื่องทะเลทรายและอากาศร้อนแล้ง ปัญหานี้พบเห็นได้น้อยครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE ในรอบ 75 ปี

แม้จะผ่านมาแล้วถึง 3 วัน แต่ถนนหนทางในนครดูไบยังคงจมอยู่ใต้น้ำ การสัญจรเต็มไปด้วยความยากลำบาก รถยนต์ต้องวิ่งฝ่าน้ำท่วมสูง บางคันไปต่อไม่ได้เพราะเครื่องยนต์ดับ ขณะที่ถนนบางสายถูกปิด

ภาพเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งของ UAE คือ การขาดแคลนระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น พอฝนตกลงมาหนักๆ ก็มักจะเจอกับน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะครั้งนี้ที่ฝนตกหนักทำสถิติ ขณะที่ข้อมูลจากทางการชี้ว่ายูเออีมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำมากกว่า 100 แห่ง ที่ใช้เก็บกักน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรหายาก แต่ประเทศในแถบนี้แห้งแล้งมากแค่ไหน

ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่าประเทศในแถบนี้ ทั้งโอมาน ยูเออี กาตาร์และบาห์เรน มีทะเลทรายกินพื้นที่เกือบทั้งประเทศ ยกเว้นก็แต่จุดที่อยู่ติดกับทะเล โดยข้อมูลจากธนาคารโลก ซึ่งประเมินปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเฉลี่ยในแต่ละปี พบว่า UAE มีประมาณ 140 - 200 มม.

ขณะที่พื้นที่ตอนเหนือของโอมานจะมีฝนตกลงมาเยอะกว่าตอนใต้ สูงสุด 300 มม./ปี ส่วนบาห์เรนและกาตาร์ตกเฉลี่ยปีละไม่ถึง 100 มม. เทียบไม่ได้กับบ้านเราที่ปกติจะมีฝนตกเฉลี่ยปีละ 1,200 - 4,500 มม. หรือมากกว่าในตะวันออกกลางกว่า 20 เท่า

ดังนั้น นอกจากการสร้างเขื่อนเก็บน้ำฝนและการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลแล้ว UAE ยังหันมาให้ความสำคัญกับโครงการทำฝนเทียมด้วย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ก่อนที่จะหันไปร่วมมือกับหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และแอฟริกาใต้ทำโครงการนี้ โดย UAE มีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศมากกว่า 60 แห่งและมีเครื่องบินทำฝนเทียมอย่างน้อย 6 ลำ

อ่าน : ฝนถล่ม "ดูไบ" เที่ยวบินรวน-การจราจรอัมพาต

โลกรู้จักการทำฝนเทียมตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 แต่เริ่มได้รับความนิยมในสหรัฐฯ ในอีก 20 ปีถัดมา โดยในปัจจุบัน มีหลายสิบประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียและตะวันออกกลางที่พึ่งพากระบวนการนี้เพื่อแก้ปัญหาหลายอย่าง ทั้งน้ำแล้ง หิมะน้อยและปัญหาหมอกควัน

ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา UAE ทำฝนเทียมหวังแก้ปัญหาฝนแล้งบ่อยครั้งและอัดฉีดงบประมาณพัฒนาโครงการ 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวคิดที่แพร่หลายนี้ทำให้บางคนออกมาเชื่อมโยงเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่กับการทำฝนเทียม

แม้ว่าวิธีนี้จะได้รับความนิยม แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า จริงๆ แล้ว การทำฝนเทียมมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ซึ่งผลวิจัยแต่ละชิ้นให้น้ำหนักต่างกันออกไป แต่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยทะเลทรายในสหรัฐฯ พบว่า งานวิจัยส่วนใหญ่ ประเมินว่า การทำฝนเทียมน่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยร้อยละ 10 - 15 แต่ฝนที่ตกในดูไบและประเทศใกล้เคียงมีปริมาณมากกว่านั้น

ข้อมูลที่รวบรวมจากสื่อหลายสำนัก ชี้ว่าในช่วง 24 ชม. ระหว่างที่ฝนพัดถล่มดูไบ สามารถวัดปริมาณน้ำฝนในเมืองนี้ได้มากกว่า 140 มม. หรือในเมืองอัล เอน ที่ติดกับพรมแดนโอมาน ปริมาณน้ำฝนในช่วง 24 ชั่วโมง ทะลุ 250 มม. สูงกว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีของ UAE ทั้งประเทศเสียอีก

ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกในโอมานระหว่างวันอาทิตย์ถึงวันพุธวัดได้กว่า 230 มม. ซึ่งสูงเทียบเท่าปริมาณน้ำฝนทั้งปี หรือบาห์เรนกับกาตาร์ก็มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน ฝนตกเพียงแค่ 2 วัน ก็มีปริมาณน้ำฝนพอๆ กับทั้งปี

ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากขนาดนี้ ประกอบกับการยืนยันจากทางการว่าไม่ได้มีการทำฝนเทียมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สามารถฟันธงได้ว่าการทำฝนเทียมไม่ได้เป็นสาเหตุของภัยธรรมชาติในครั้งนี้

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก เชื่อว่า ฝนที่ตกหนักเช่นนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการพยากรณ์สภาพอากาศเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้

โดยวิกฤตโลกร้อนทำให้น้ำในทะเลและอากาศอุ่นขึ้นมาก ทำให้อุ้มความชื้นเอาไว้มาก เมื่อเกิดฝนจึงตกลงมาหนักกว่าปกติ ขณะที่เดือนเมษายนเป็นช่วงที่มักจะเกิดปรากฏการณ์ผิดปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ความกดอากาศจึงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตโลกร้อนกำลังทำให้โลกต้องเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งสถานการณ์นี้เลวร้ายลงทุกปี สำหรับปัญหานี้ คนทั้งโลกต้องช่วยกันก่อนที่จะสายเกินแก้

อ่านข่าวอื่น :

ข่าวที่เกี่ยวข้อง