ตักบาตรเที่ยงคืนในวัน "เป็งปุ๊ด" กับอรหันต์องค์สุดท้าย "พระอุปคุต"

ไลฟ์สไตล์
21 พ.ค. 67
18:27
13,554
Logo Thai PBS
ตักบาตรเที่ยงคืนในวัน "เป็งปุ๊ด" กับอรหันต์องค์สุดท้าย "พระอุปคุต"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ประเพณี "ตักบาตรเที่ยงคืน" ในวันพุธขึ้น 15 ค่ำตามความเชื่อล้านนามีว่า "พระอุปคุต" อรหันต์ที่ยังมีชีวิตหนึ่งเดียวของโลกจะขึ้นมาบิณฑบาตรในโลกมนุษย์ในร่างจำแลง "เณรน้อย" ใครที่ได้ทำบุญกับท่านจะถือว่าได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่บังเกิดเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

วันเป็งปุ๊ด คือวันอะไร

วันเป็งปุ๊ด หรือ เพ็ญพุธ หรือ ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ ในทุกปีที่มีวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกับวันพุธโดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระภิกษุสามเณรทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน บรรดาพุทธศาสนิกชนชาวเหนือจะเตรียมข้าวสารอาหารแห้งไว้คอยใส่บาตรตั้งแต่หลังเที่ยงคืน โดยจะไปคอยใส่บาตรที่หน้าบ้าน ตามถนนสายต่าง ๆ หรือตามแยกใกล้ชุมชน 

วิสาขบูชา 2567 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6  

วันวิสาขบูชา 2567 ตรงกับวันพุธ เรียกว่า วันเพ็ญพุธ คือ วันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ ซึ่งบางปีไม่มีเลย ปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม (เวลาเที่ยงคืน) เท่ากับเป็นคืนวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม โดยการไหว้พระอุปคุตเน้นขอพรส่งเสริมให้มีความสุข ให้มีอายุยืนยาวสุขภาพแข็งแรง ความรักมั่นคงมีอำนาจบารมี และมีเหลือกินเหลือใช้ มั่งคั่งมั่งมีศรีสุข เงินทอง โชคลาภ 

อ่านข่าว : ปักหมุด สถานที่เวียนเทียน "วันวิสาขบูชา 2567"

"วัดอุปคุต" วัดสำคัญในวันเป็งปุ๊ด

สำหรับชาวพุทธใน จ.เชียงใหม่ หรือใกล้เคียง นิยมไปตักบาตรเที่ยงคืนที่ "วัดอุปคุต" ซึ่งตามความเชื่อ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในยามรุ่งสางของวันพุธวันหนึ่ง ขณะที่พระจันทร์ยังส่องแสงเต็มดวงอยู่นั้น มีสามีภรรยาผู้ยากไร้ทำอาชีพขายผลไม้คู่หนึ่ง กำลังนำผลไม้ไปขายที่ตลาด พลันเห็นสามเณรน้อยรูปหนึ่งเดินผ่านมายืนที่หน้าบ้าน ทั้งคู่แม้จะมีเงินทองไม่มากนัก แต่ก็รู้สึกอยากทำบุญมาก ๆ หลังจากใส่บาตรแล้ว ทั้งคู่บังเกิดความปีติอิ่มอกอิ่มใจอย่างบอกไม่ถูก

วันนั้นทั้งวันขายผลไม้หมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว และวันต่อ ๆ มาก็เป็นเช่นนี้อีก ทำให้เริ่มมีฐานะดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคหบดีของเมืองเชียงใหม่

ทุก ๆ วันพุธยามรุ่งสาง สามีภรรยามักชะเง้อมองหาสามเณรน้อยอยู่เนือง ๆ แต่กลับไม่มีโอกาสได้พบอีกเลย จึงนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับพระเถระรูปหนึ่ง พระเถระรูปนั้นอธิบายว่า สามเณรรูปที่ทั้งสองได้ใส่บาตรไป คงเป็น "พระอุปคุต" จำแลงกายผุดมาจากสะดือทะเลหลังจากที่อดข้าวจำศีลมาตลอดทั้งปี โดยมาในรูปของเณรน้อยวัย 7 ขวบจะมาเดินบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืนเฉพาะวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ของวันพุธเท่านั้น

ด้วยเหตุที่สองสามีภรรยา ได้โชคลาภจากการใส่บาตรกับพระอุปคุตผ่านร่างของสามเณรน้อยรูปนั้น เป็นที่มาของการสร้างวัดอุปคุตขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ 

อ่านข่าว : “บุญกิริยาวัตถุ 10” วิธีเพิ่มบุญให้ตัวเอง

"พระอุปคุต" พระอรหันต์หนึ่งเดียวที่โลกยังมีชีวิตอยู่

ในทางพุทธศาสนา ปัจจุบันยังเชื่อว่า โลกนี้ยังมีพระอรหันต์องค์สำคัญ ผู้มีหน้าที่สืบทอดพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปีนั่นคือ "พระอุปคุต" ในสมัยพุทธกาล ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เทศนาโปรดนาคชื่ออปลาละ โปรดช่างปั้นหม้อหญิงจัณฑาล และ นางโคบาลแล้ว เสด็จสู่เมืองมถุรา ณ ที่นั้นได้มีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์ ณ นครมถุรานี้ อีกร้อยปี แต่ตถาคตนิพพานแล้ว จะมีคนขายน้ำหอมชื่อ คุปตะ เขาจะมีลูกชื่อ อุปคุต ซึ่งจะได้เป็นอนุพุทธ ท่านผู้นี้จะทำงานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป เทศนาของท่านผู้นี้จะช่วยให้ภิกษุเป็นอันมากเอาชนะกิเลสมารได้ จนเข้าถึงอรหันตผล พระอรหันต์จะมีมากจนมีปริมาณเต็มถ้ำ ซึ่งยาว 18 ศอก กว้าง 12 ศอก อานนท์ นอกไปจากนี้แล้ว พระอุปคุตรูปนี้ จะเป็น "เอตทัคคะ" ในบรรดาธรรมถึกทั้งหลายของเรา

"พระอุปคุต" จึงเป็นพระอรหันต์องค์สำคัญหลังสมัยพุทธกาล "ที่ยังมีชีวิตอยู่" ที่ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ให้เป็นอนุพุทธะทำภารกิจสืบทอดพระศาสนา แทนพระพุทธเจ้าไปจนถึง พ.ศ.5000 

พระอุปคุต

พระอุปคุต

พระอุปคุต

ตามคำบอกเล่าของครูบาอาจารย์ผู้สำเร็จธรรม กล่าวว่า "พระอุปคุต" ท่านมีปฏิปทาดำเนินไปในทางสันโดษ มักน้อย ท่านอธิษฐานจิตทรงสภาวะธาตุขันธ์ชั้นละเอียดเหนือยิ่งกว่าความเป็นทิพย์เนรมิตอยู่ในมณฑปแก้ว ณ ท้องทะเลหลวง (สะดือทะเล) เข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุตติสุขอยู่ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่

ท่านจะออกจากสมาบัติ ขึ้นมาบิณฑบาตรในโลกมนุษย์ เฉพาะในวันเพ็ญพุธ (วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ) เนรมิตกายเป็นเณรน้อย ออกมาบิณฑบาตในตอนเช้ามืด แล้วจะลงไปอยู่ประจำที่กุฏิแก้วในท้องทะเลหลวงเช่นเดิม

ความเชื่อของชาวพุทธล้านนามีว่า โอกาสที่จะได้ทำบุญกับพระอรหันต์นั้นยากเต็มที ใครที่ได้ทำบุญใส่บาตรกับพระอรหันต์นั้นถือเป็นการสร้างมหากุศล และยิ่งได้ทำบุญกับพระอรหันต์ที่ออกจากนิโรธะสมาบัตินั้นยิ่งยากกว่า ผลจากการที่ได้สร้างมหากุศลนี้ มีผลไพบูลย์ สามารถพลิกชะตาให้แก่ผู้สร้างกายเป็นผู้อุดมไปด้วยโภคทรัพย์เพียงชั่วข้ามคืน

บุคคลผู้ประเสริฐทั้ง 4 ประเภทในพุทธศาสนา

ปริศนาธรรมภาพจาก สมุดข่อย โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย 2542 ของ บุญเตือน ศรีวรพจน์ และ ประสิทธิ์ แสงหับ "ดอกบัวที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ด้านซ้ายของภาพ หมายถึง อริยมรรค อริยผล ดอกที่อยู่ล่างสุด หมายถึงพระโสดาบัน ดอกที่อยู่ลำดับที่ 2 หมายถึง พระสกิทาคามี ดอกชั้นที่ 3 หมายถึง พระอนาคามี และดอกบนสุด หมายถึง พระอรหันต์" เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคล 4 ขั้น

ทางพุทธศาสนาถือว่าความเป็นพระอริยบุคคลนั้น กำหนดได้ด้วยการละสังโยชน์ไว้ในภพ ใครละได้น้อยก็เป็นอริยบุคคลชั้นต่ำ เมื่อละได้มากก็เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงขึ้น ใครละได้หมดก็เป็นพระอรหันต์ เป็นลำดับดังนี้

  • ลำดับ 4 พระโสดาบัน การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น เป็นการยกระดับจิตใจอย่างถาวร ทำให้ "ไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชน" ได้อีก เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน) ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน
  • ลำดับ 3 พระสกิทาคามี แปลว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว" หมายถึง พระสกิทาคามีจะเกิดในกามาวจรภพอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะถึงพระนิพพาน
  • ลำดับ 2 พระอนาคามี  แปลว่า "ผู้ไม่มาเกิดอีก" หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย
  • ลำดับ 1 พระอรหันต์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด

รู้หรือไม่ : รูปหล่อพระอุปคุต มือของท่านนั้นตกลงไปในบาตรแล้วพระเศียรหันเชิดขึ้น หรือที่เรียกกันว่า "ปางจกบาตร" หมายถึง หน้ามองฟ้าหยุดพระอาทิตย์ชั่วคราว เพื่อฉันภัตตาหารให้ทันก่อนเพล แสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้ ที่แม้แต่พระอาทิตย์ก็ยังต้องหยุดด้วยอานุภาพของท่าน

พระอุปคุต

พระอุปคุต

พระอุปคุต

ไหว้ "พระอุปคุต" ที่ไหนได้บ้าง

1.วัดตึก จ.นนทบุรี มี 'พระอุปคุต' ขนาดเท่าองค์พระจริง ประดิษฐานอยู่ สามารถไปกราบเพื่อขอพรได้ตลอดเวลา

2.วัดท่าไม้ ตั้งอยู่ที่ถนนเศรษฐกิจ 1 ซอย 8 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

3. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศน์และถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดย "พระอุปคุต" ประดิษฐานที่บริเวณศาลาแดง ขวามือ ถ้าหันหน้าเข้าโบสถ์

4. วัดอุปคุต จ.เชียงใหม่ โดยจะมีการจัดประเพณีใส่บาตรพระอุปคุตเป็นประจำทุกปี ในวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธหรือที่เรียกว่า "เป็งปุ๊ด" ประเพณีใส่บาตรเที่ยงคืน

ที่มา : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง