ย้อนรอยขบวนการนายหน้าค้า ที่ดินวังน้ำเขียว

สิ่งแวดล้อม
5 ส.ค. 67
11:39
3,269
Logo Thai PBS
ย้อนรอยขบวนการนายหน้าค้า ที่ดินวังน้ำเขียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ย้อนรอยขบวนการนายหน้าค้าที่ดินวังน้ำเขียว ปมปัญหา SAVEทับลาน หรือ SAVEชาวบ้าน

แม้จะสิ้นสุดไปแล้วสำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนกรณี เพิกถอนพื้นที่ 260,000 ไร่ ออกจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ทำให้ปัญหาพิพาทที่ดินที่ยืดเยื้อมานานกว่า 40 ปี ถูกพูดถึงอีกครั้ง ภายใต้แคมเปญ SAVE ทับลาน

ผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเพิกถอนพื้นที่ป่า ถึง 900,000 คน หรือคิดเป็น 95% ของผู้แสดงความคิดเห็นทั้งหมด แต่กระบวนการที่จะมีการเพิกถอนพื้นที่หรือไม่ ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน

ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังเดินหน้ารวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อจะเสนอคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พิจารณาแนวทางแก้ปัญหา หรือ กระแส SAVE ชาวบ้าน ที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ

ภายในเดือน ส.ค.นี้ คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติฯ จะประชุมเพื่อพิจารณาข้อมูลจากการเปิดรับฟังความเห็น ก่อนมีมติว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตหรือไม่ เพื่อนำมติบอร์ดอุทยานฯเสนอให้คณะกรรมการโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พิจารณา ก่อนเสนอต่อ ครม.ซึ่งหากผลการพิจารณาสรุปว่า ต้องปรับปรุงแนวเขตฯ ก็จะเข้าสู่การขั้นตอนการแก้กฎหมาย หรือพระราชกฤษฎีกาประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2524 ต่อไป

ระหว่างนี้ ข้อมูลทั้งจากฝ่าย SAVEทับลาน และ SAVEชาวบ้าน ที่อยู่มาก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ต่างถูกนำมาเปิดเผยต่อสังคม

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกนำมากล่าวย้ำอีกครั้งคือ ขบวนการทุน-นักการเมืองรุกป่า ซึ่งเป็นการเข้าไปซื้อขายที่ดินต่อจากชาวบ้าน ในพื้นที่วังน้ำเขียวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

แม้ชาวบ้านจะยืนยันว่า จะเป็นเพียงแค่พื้นที่ส่วนน้อยที่ถูกขายเปลี่ยนมือ แต่กลายเป็นปมปัญหาสำคัญ ที่ทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในการจัดการปัญหาที่ดินของรัฐ หากมีการเพิกถอนเขตอุทยานฯ

ขบวนการนายหน้าค้าที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว จากยุคเริ่มแรก ปัญหาความไม่ชัดเจนของแนวเขตป่า กับการเข้ามาอยู่อาศัยของประชาชน

-ปี 2457 ข้อมูลจาก อบต.ไทยสามัคคี อ้างว่า มีชุมชนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2457

-ปี 2511 รัฐประกาศให้สัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี กลายเป็นป่าเสื่อโทรม

-ปี 2513 ภาพถ่ายทางอากาศพบการตั้งชุมชน และทำการเกษตร

-ปี 2518 ภาพถ่ายทางอากาศพบการขยายตัวของชุมชน

-ปี 2520 จัดตั้งหมู่บ้านไทยสามัคคี จัดสรรที่ทำกินแบ่งแยกราษฎรกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ มอบที่ดินเพื่ออยู่อาศัยครอบครัวละ 1 งาน ที่ทำกินครอบครัวละ 10 ไร่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีเนื้อที่ทั้งหมด 700,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน มีที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องประมาณ 9,000 ไร่ เท่านั้น

แม้พื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว กลับเป็นที่ต้องการจากกลุ่มทุน นักการเมือง อดีตข้าราชการ หรือ นักธุรกิจ ซึ่งต่างหาทำเลในการสร้างบ้านพักตากอากาศ หรือ ทำรีสอร์ต 30 กว่าปีก่อน คือยุคเริ่มปรับปรุงแนวเขต อช.ทับลานใหม่ และพบว่า เริ่มมีการซื้อขายที่ดินวังน้ำเขียว แม้จะยังอยู่ในเขตอุทยานฯ และ ส.ป.ก.

-ปี 2534 กรมป่าไม้ มีมติเห็นชอบปรับปรุงแนวเขต อช.ทับลาน และเริ่มรังวัด ปักหมุดตั้งแต่ปี 2537

-ปี 2540 แม้แนวเขตใหม่ของอุทยานฯจะยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่มีข้อมูลว่า ช่วงนี้ เริ่มมีนักการเมืองท้องถิ่น เข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จุดเริ่มต้นของขบวนการนายหน้าขายที่ดินเกิดขึ้น

-ปี 2541 การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินวังน้ำเขียว เริ่มเข้าไปอยู่ในกลุ่มทุน และนักการเมืองระดับชาติ จากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว เกิดแคมเปญ “Amazing Thailand” (อะเมซิ่ง ไทยแลนด์) เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางเข้าประเทศไทย

ผลพวงนี้ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก คือ บ้านผางามรีสอร์ต อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ที่ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน ก่อนถูกรื้อถอนในปี 2557

ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูเป็นผืนป่า นอกจากนี้ ยังมีรีสอร์ตอีกหลายแห่งใน อ.วังน้ำเขียว ที่ถูกดำเนินคดีเช่นกัน เช่น คลองกระทิงคันทรีวิว ที่ถูกรื้อถอนพร้อมบ้านผางามรีสอร์ต และ อิมภูฮิลล์รีสอร์ต ที่ปัจจุบันยังไม่ถูกรื้อถอนแต่อยู่ในสภาพทรุดโทรม และเริ่มมีการปรับพื้นที่ปลูกทุเรียน

-ปี 2543 รังวัดแนวเขตอุทยานฯใหม่แล้วเสร็จ เพื่อกันพื้นที่ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยออก แต่ไม่นำไปสู่การประกาศเป็นกฎหมาย และเริ่มมีการดำเนินคดีกับนายทุนที่บุกรุกเขตอุทยานฯ แต่มีเพียงไม่กี่ราย

-ปี 2545 ปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นใหม่ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินระบุว่า การตั้งกรมอุทยานฯ ทำให้ขาดความความต่อเนื่องในการประกาศใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543และตรา พ.ร.ฎ.ปรับปรุงแนวเขตให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี พ.ศ.2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็ยังคงยืนยันแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มีหนังสือให้คำมั่นต่อศูนย์มรดกโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่า จะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอย่างแน่นอน โดยกันพื้นที่ส่วนที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกและผนวกพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์เข้ามา โดยมีแนวเขตและเนื้อที่สอดคล้องกับเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543

ยุคท่องเที่ยววังน้ำเขียวเฟื่องฟู ซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดิน

ในช่วง ปี 2548-2553 ที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน อ.วังน้ำเขียว โดยชูจุดขายเป็นแหล่งโอโซน อันดับ 7 ของโลก การท่องเที่ยววังน้ำเขียวจึงเติบโตแบบก้าวกระโดด ความต้องการที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านพักตากอากาศและรีสอร์ต ของนักธุรกิจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้ราคาที่ดินใน อ.วังน้ำเขียวมีราคาสูงขึ้น

จากราคาหลักพันถึงหลักหมื่นต่อไร่ เป็นไร่ละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านบางส่วนเลือกขายที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ทำกินในทั้งในรูปแบบ ส.ป.ก. เอกสาร สร 5 ก. หรือ ส.ป.ก.ใบอ่อน และเอกสารเสียภาษีบำรุงพื้นที่ หรือ ภบท.5 ให้กับนายทุน ส่งผลให้การครอบครองที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถูกเปลี่ยนมือเป็นของคนต่างพื้นที่ และบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ

มีข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า กลุ่มนายหน้าขายที่ดินสมัยนั้นเป็นผู้นำชุมชนและนักการเมืองท้องถิ่น ที่ปัจจุบันกลายเป็นนักการเมืองระดับชาติ เป็นผู้นำที่ดินในพื้นที่มาจัดสรรขายให้กับนักธุรกิจ ทุนใหญ่ และนักการเมืองระดับประเทศ

ขณะที่มีข้อมูลอีกส่วนหนึ่ง อ้างว่า การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินวังน้ำเขียว ไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่ หรือนักการเมืองเท่านั้น แต่มีประชาชน พ่อค้าแม่ค้า และข้าราชการเกษียณ ที่พอมีเงินหลักแสน หรือ 1-2 ล้าน บาทเข้ามาซื้อที่ดิน เพื่อหวังจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือทำที่พักโฮมสเตย์ เพราะสมัยนั้น มีการซื้อขายอย่างโจ่งแจ้ง มีนักการเมืองท้องถิ่นมารับรองว่า หลังซื้อที่ดินจะมีการอำนวยความสะดวกเรื่องไฟฟ้า ออกบ้านเลขที่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน

ในยุคนั้นการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ไปไม่สุดทางและการเปลี่ยนรัฐบาล ยังไม่มีความชัดเจนในการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กว่า 700,000ไร่ ใน อ.วังน้ำเขียว จึงมีการประกาศขายที่อย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

การซื้อขายที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว พบว่า ช่วงปี 2550 - 2551 มีการติดป้ายประกาศขายที่ดินกันอย่างโจ่งแจ้ง ตามถนนสายหลักตัดผ่านใน ต.วังน้ำเขียว และ ต.ไทยสามัคคี ราคาหลักแสนไปถึงหลักล้านบาท

มีข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า กลุ่มนายหน้าขายที่ดินจะเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่โดยมีอดีตนักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้นำที่ดินในพื้นที่มาจัดสรรขายให้กับนักธุรกิจ ทุนใหญ่ และนักการเมืองระดับประเทศ

แต่ในช่วงปี พ.ศ.2554 รัฐบาล มีนโยบายทวงคืนผืนป่า และมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว จนทำไปสู่การจับกุมเจ้าของรีสอร์ตและที่พักกว่า 300 ราย หรือ 352 แปลง จากทั้งหมด 4,000 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่เป็นชาวบ้านอยู่อาศัยในเขตอุทยานฯ จนนำไปสู่การเรียกร้องของคนในพื้นที่ให้มีการแก้ปัญหาที่ดินวังน้ำเขียวอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้เป็นวังน้ำเขียวโมเดลในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่รัฐกับชาวบ้าน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพให้เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวส่งเสริมเศรษฐกิจ

เพราะหลังการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งการดำเนินคดีกับเจ้าของรีสอร์ตและชาวบ้านที่บุกรุกป่า 300 กว่าคดี ทำให้ราคาที่ดินใน อ.วังน้ำเขียว เริ่มปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิด -19 รวมถึงการท่องเที่ยวที่ซบเซา

จากการตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการประกาศขายที่ดินในอำเภอวังน้ำเขียว พบมีการประกาศขายที่ดิน รีสอร์ต บ้านพักหลายแห่งในราคาถูก ตั้งแต่ปลายปี 2554 และในปัจจุบัน ยังพบมีการประกาศขายที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ สปก. และ ภบท.5 แต่มีการปรับลดราคาจากไร่ละ 400,000 บ.เหลือเพียงไร่ละ 100,000 - 200,000 บ.

แม้จะถูกกระแสสังคมโจมตีในประเด็นการซื้อขายที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ใน อ.วังน้ำเขียว ที่ดินเปลี่ยนมือจากชาวบ้านดั้งเดิม ไปอยู่ในกลุ่มทุน และนักการเมือง

แต่ข้อมูลจาก สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในท้องที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่มีพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เป็นโรงแรม รีสอร์ต หรือ บ้านพักตากอากาศ มีทั้งผู้ครอบครองรายใหม่ ที่ซื้อขายเปลี่ยนมือ และผู้ครอบครองรายเดิมที่เปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ มีจำนวนประมาณ 493 คดี เนื้อที่รวมประมาณ 11,078 ไร่ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเนื้อที่และประชาชนทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการทับซ้อนของแนวเขตที่ดิน

อ่านข่าว : เสียงสะท้อนชาวบ้านวังน้ำเขียว "อยู่ก่อน" ประกาศเขต อช.ทับลาน  

เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน?

สำรวจ "หัวใจป่าทับลาน" หลังทวงคืนที่ดิน 400 ไร่   

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง