ท่ามกลางโผรายชื่อว่อนสภา และปรากฏในกลุ่มไลน์ สว.ส่วนใหญ่ ทั้งมีการสะกิดเตือนเป็นรายบุคคลอีกต่างหาก ทำให้ที่ประชุมเดือดปุด มีเปิดวิวาทะตอบโต้ มีทั้งคำว่า “พวกมากลากไป”- “มรดก สว.ชุดเก่า”- “สภารีโมท สภาใบสั่ง” กระทั่งวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม
แต่ผู้ทรงเกียรติโดยเสียงส่วนใหญ่ยังเดินหน้า ตั้งกรรมาธิการแทบตามโผรายชื่อเป๊ะ
ที่สำคัญเป็น สว. “สายน้ำเงิน” กินรวบตามคาด ขณะที่กรรมาธิการชุดแรกนี้มีความสำคัญเนื่องจากจะไม่ตรวจสอบประวัติ เฉพาะผู้ถูกเสนอชื่อเป็นอัยการสูงสุดคนใหม่เท่านั้น แต่จะรวมถึงกรรมการคนอื่น ๆ ในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญด้วย
เป็นเหตุให้ สว.เสียงข้างน้อย อย่าง กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ นำโดย ดร.นันทนา นันทวโรภาส นักวิชาการด้านการสื่อสารการเมือง และกลุ่มสว.สีขาว อาทิ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส.และโฆษกพรรคความหวังใหม่ สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) คัดค้านไม่เอาตามโผ และพยายามเสนอรายชื่อ สว.คนอื่นแข่งขันด้วย
ต้องไม่ลืมว่า ชื่อเต็มของ กมธ.คณะนี้คือ กมธ.ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ จึงไม่เพียงตรวจสอบแค่ประวัติการศึกษาหรือผลงาน แต่ติดตามขอข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งเรื่องความประพฤติ การละเมิด หรือแม้แต่ประวัติทางอาชญากรรม จึงเป็นเสมือนประตูสวรรค์ จะไฟเขียวไฟแดงคนใดหรือไม่
ขณะที่กรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ล้วนแต่มีความสำคัญตามแนวทางประชาธิปไตย ที่ต้องมีการถ่วงดุล ตรวจสอบที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตกินโกงทั้งมวล จะขึ้นอยู่กับกมธ.ชุดนี้
เห็นได้ชัดจาก กมธ.ชุดก่อน ที่มี พล.อ.อู๊ด เบื้องบน เป็นประธานกรรมาธิการ ได้สร้างผลงานตีตกบุคคลที่ผ่านกรรมการสรรหาแล้วหลายราย รวมทั้ง ผู้ถูกเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. และตีตกกรรมการการเลือกตั้งยกชุดมาแล้ว
จึงมีความสำคัญในการตรวจสอบ ก่อนส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณา ให้ความเห็นชอบ แต่ในทางกลับกันก็เป็นดาบสองคมได้ หาก “มีนอกมีใน” เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน กรอบเวลาจากปัจจุบันถึงสิ้นปี 2567 กมธ.ชุดนี้ จะมีกรรมการในองค์กรอิสระอื่น ๆ ให้ตรวจสอบอีกประมาณ 11 คน รวมทั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 2 คน กรรมการ ป.ป.ช. 5 คน ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และประธานศาลปกครองสูงสุด
จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ สว.ส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการเป็นเพียง “ตรายาง” คอยประทับให้ เพราะบทบาทของกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะเกี่ยวเนื่องกับการขับเคลื่อนและการทำงานของรัฐบาลเป็นคู่ขนานไปด้วย หากเป็นไปในลักษณะเอื้อประโยชน์ เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หรือประเภทผลัดกันเกาหลัง ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจะไม่เกิดมรรคผล
อีกทั้งหากปล่อยให้เกิดกรณี “พวกมากลากไป” จากกรณีใดกรณีหนึ่ง เมื่อทำได้สำเร็จ จะกลายเป็นแนวทางปกติการทำหน้าที่ของสว. ซึ่งยังมีบทบาทหน้าที่อีกล้นเหลือ อาทิ ตรวจสอบการทำงานรัฐบาล
การกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งปี 2568 และงบเพิ่มเติมปี 2567 ที่ส่วนหนึ่งจะถูกไปใช้ในดิจิทัลวอลเลต การกลั่นกรองกฎหมายออกเสียงประชามติ พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เป็นต้น รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560
การตั้ง กมธ.ชุดแรกดังกล่าว จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และยังเป็นการแสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะอยู่เคียงข้างและพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมีพึงได้รับ หรือจะยืนเคียงข้างฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจ
ยังไม่นับกรรมาธิการชุดอื่น ๆ ที่มีทั้งกมธ.สามัญที่จะลดเหลือ 21 คณะ และกมธ.วิสามัญเฉพาะกิจหรือตามเหตุการณ์อีกนับสิบคณะ ซึ่งจะมีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบเรื่องสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล และองคาพยพทั้งสิ้น
จึงไม่แคล้วอาจได้เห็นการแย่งชิง และ/หรือ พยายาม “กินรวบ” ใน กมธ.ชุดต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อสกัดกั้น สว.เสียงข้างน้อย หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ไม่ให้มีบทบาทหรือทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบได้ อย่างที่ควรจะเป็น
เท่ากับจงใจทำหน้าที่ สว. แบบเลือกข้าง กินรวบไม่แบ่ง ปิดกั้น สว.กลุ่มที่เห็นต่าง ท้าทายและสวนทางความคาดหวังของประชาชนตั้งแต่แรก
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : ผู้พิพากษาสหรัฐฯ ตัดสิน "กูเกิล" ผิดข้อหาผูกขาดตลาด
หอการค้าชี้ คนไทยให้ความสำคัญ "วันแม่" เงินสะพัด 1 หมื่นล้าน