เปิด 2 แนวทางคดีถอด "เศรษฐา" ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา 14 ส.ค.

การเมือง
13 ส.ค. 67
13:43
8,702
Logo Thai PBS
เปิด 2 แนวทางคดีถอด "เศรษฐา" ศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตา 14 ส.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จับตาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา" กรณีตั้ง "พิชิต" นั่งรัฐมนตรี พร้อมเผย 2 แนวทางของคำวินิจฉัย

เป็นที่จับตาดูว่า พรุ่งนี้ (14 ส.ค.2567) ประเทศไทย จะมีอะไรให้ต้องลุ้นหรือไม่ กับ เส้นทางนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน กับคำร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นนายกฯ จะต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

จากกรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 17/2567)

สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่ง จำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2

2 แนวทาง "รอด" กับ "ไม่รอด"

ซึ่งในรายละเอียดจะเกี่ยวกับขั้นตอน การยื่นคำร้อง ข้อกล่าวหาเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี และลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี และคำถาม ที่เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่

ขณะที่ ข้อเท็จจริง คือการกระทำ เจตนา และเหตุที่เกิดขึ้นจริง กรณีนายเศรษฐา แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี คือ "รู้หรือควรรู้อยู่แล้ว" ว่านายพิชิต ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีหรือไม่

แนวทางที่คาดว่า  ไม่รอด หรือ ไม่ได้ไปต่อ หรือความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลง นอกจากการเลือกนายกฯคนใหม่ และ ครม. ชุดใหม่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 168 บัญญัติ ไม่ให้นายกรัฐมนตรีที่ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ด้วยเหตุขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้าม ทำหน้าที่ "รักษาการ" แต่ให้ ครม.รักษาการ ประชุมกัน แล้วเลือก ผู้ทำหน้าที่ นายกฯ รักษาการ

ถ้าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รอด หรือ ได้ไปต่อ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป นอกจากเร่งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เดินหน้าโครงการ "ดิจิทัล-วอลเล็ต" และขับเคลื่อนนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลแล้ว ภายในเดือนกันยายน หรือตุลาคมนี้ จะมีการปรับ ครม.เศรษฐา 1/2 เกิดขึ้น

แต่โจทย์ก็คือ ไม่ว่า นายกรัฐมนตรี จะเป็นอย่างไร ก็ยังมีเรื่องให้ต้องลุ้น คือ เศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับ งบประมาณ 2568 ที่จะต้องใช้ทำดิจิทัลวอลเล็ต และ งบประมาณปกติ ที่จะต้องพิจารณาให้เสร็จทัน ก.ย. นี้

ทั้งนี้ยังเป็นข้อสังเกตด้วยว่า ไม่สามารถเลื่อนลำดับให้นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำจากพรรคเพื่อไทย เข้ามาทำหน้าที่ เป็นผู้รักษาราชการแทน ได้

แม้ตามลำดับจะเป็นรองนายกฯ คนที่ 1 และมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับนายนายพิชัย ชุณหวชิร จากพรรคเดียวกัน เป็นลำดับ 2 และ 3

แต่ก็ยังมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรคร่วมรัฐบาล เป็นรองนายกฯ ตามลำดับอีกด้วย

ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 41 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน

เศรษฐกิจไทยกระทบหรือไม่ หากนายกฯไม่ได้ไปต่อ?

แหล่งข่าวในภาคธุรกิจบางราย ให้น้ำหนักไปที่นายเศรษฐา มีโอกาสรอดสูง ขณะที่ รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองว่า กรณีถอดถอนนายกฯ ไม่เหมือนกรณีของก้าวไกล 2 ประเด็น คือ ในทางกฎหมายที่นายกฯ สู้ได้ว่า ทำไปโดยสุจริต เชื่อว่าทำเช่นนั้นได้ กับ ในทางแรงกดดันทางการเมืองก็ไม่มากนัก แตกต่างจากกรณีของก้าวไกล จึงให้น้ำหนักไปที่โอกาสไปต่อมีมากกว่า

แต่การไปต่อของนายกฯ ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะไปได้สวย เพราะ ความไม่แน่ไม่นอนยังมีอยู่ เดินหน้างานต่อได้ จิตวิทยาทางเศรษฐกิจไม่สะดุด แต่จะสำเร็จแค่ไหน ที่ทำไว้ ไปโรดโชว์มา จะให้ผลเพียงใด อันนั้นต้องทำให้ชัด

และ ถ้าไม่ได้ไปต่อ ก็อาจจะทำให้ตลาดหุ้น การลงทุนโดยตรง ที่นายกฯไปเชื้อเชิญมาสะดุดลงบ้าง แบบ Wait n See แต่ในท้ายที่สุดความกังวลนี้ก็จะหายไปได้

นักวิชาการชี้ การเมืองคุณภาพต่ำลง ต้นตอเศรษฐกิจชะงัก

ในช่วง 10-20 ปีมานี้ การเมืองไทย ถูกยกให้เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 สำหรับการลงทุนในไทย เรื่องที่ไม่คาดฝัน บางทีก็ไม่ไกลเกินที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เราควรจะมอง หรือ เข้าใจ หรือ หาทางออกอย่างไร

รศ.สมชาย บอกว่า ใช่ ที่ความเสี่ยงทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจร่อยหรอ ทุกๆ 10 ปี จีดีพี หายไป 1 เปอร์เซ็นต์ และ มากขึ้น ในช่วงหลัง ในขณะที่อาเซียนทำได้ดีกว่าเรา

แต่สิ่งที่การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจจริงๆ คือ เราขาดผู้นำ ที่มีวิสัยทัศน์ไปข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ปัญหา เท่ากับ การเมืองที่เข้ามา มีคุณภาพต่ำลง

คุณภาพการเมืองต่ำลง ทำแต่นโยบายระยะสั้น แก้ปัญหาโครงสร้างไม่ตรงประเด็น เช่น กรณีสตาร์ตอัพ

เปลี่ยนแค่พรรค นโยบายไม่เปลี่ยน ไทยไม่มีพรรคซ้ายจัด ขวาจัด นโยบายก็เหมือนๆ กัน แต่เป็นการขยายตัวของกลุ่มผลประโยชน์ 

อ่านข่าว :

"เศรษฐา" ส่งเลขานายกรัฐมนตรีฟังคดีศาล รธน.14 ส.ค.

“ภูมิธรรม” หารือพรรคร่วม ภท.ขอโควตารองปธ.สภา

"อนุทิน" แย้มภูมิใจไทยส่ง​ "ภราดร" นั่งรอง ปธ.สภาฯ คนที่​ 1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง