วันนี้ (13 ส.ค.2567) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากระทรวงยุติธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารจากพืชฝิ่นและพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบดังกล่าว ยธ. จึงยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชกฤษฎีกาตามที่ สศก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มีสาระสำคัญสำคัญเป็นการกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและตรวจสอบการเพาะปลูกและสารสำคัญจากพืชดังกล่าว ดังนี้
1. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสารสำคัญที่ได้จากฝิ่น ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และกำหนดให้พื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม เช่น อาคารฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ เป็นพื้นที่ทดลองสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย
2. การกำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดจากสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่บางส่วนของวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย กำหนดให้พื้นที่ของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาคารสุขประชา วาจานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่และโรงเรือนของหมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ห้อง MD 346 ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย
ภาพประกอบข่าว
3. การกำหนดมาตรการการควบคุมการเพาะปลูกฝิ่น โดยกำหนดให้เลขาธิการ ป.ป.ส. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมการดำเนินการทดลองเพาะปลูกฝิ่น เพื่อส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมสกัดสารสำคัญ เพื่อประโยชน์ทางการวิจัย ในเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยต้องมีมาตรการควบคุม เช่น ที่มาของพืชฝิ่นที่จะเพาะปลูก ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สถานที่เพาะปลูกต้องจัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน
4. การกำหนดมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชเห็ดขี้ควาย โดยกำหนดให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น มาใช้บังคับการควบคุมการเพาะปลูกเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม
5. การกำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากฝิ่น กำหนดมาตรการควบคุมการสกัดสารสำคัญจากพืชฝิ่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น สถานที่สกัดต้องจัดทำป้ายระบุว่าเป็นสถานที่สกัดพืชฝุ่นตามพระราชกฤษฎีกานี้ แสดงแบบแปลนอาคาร จัดให้มีประตูเข้าออกที่มีความมั่นคงแข็งแรง การรักษาความปลอดภัย ต้องมีการติดตั้งกล้อง CCTV และจัดเก็บข้อมูลไว้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 180 วัน เป็นต้น
6. มาตรการควบคุมการเพาะปลูกและสารสกัดจากพืชเห็ดขี้ควายของสถาบันการศึกษา กำหนดให้อธิการบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุม การทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย และให้นำมาตรการควบคุมการเพาะปลูกพืชฝิ่น และมาตรการควบคุมการดำเนินการสกัดสารสำคัญ มาใช้บังคับกับการควบคุมการเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควายด้วยโดยอนุโลม
อ่านข่าวอื่น :
"อัจฉริยะ" ร้องเอาผิด "อธิบดี-ผบก." ละเว้นปฏิบัติหน้าที่คดีน้ำมันเถื่อน
ผู้ป่วยลองโควิดทั่วโลก 400 ล้านคน เศรษฐกิจสูญ 1 ล้านล้านเหรียญ