แต่ยังมีประเด็นพยายามจุดกระแสต่อต้านพลเรือน ที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ คุมกองทัพ
คือนายภูมิธรรม เวชยชัย หรือ "สหายใหญ่" อดีตนักศึกษาที่หนีเข้าป่าจากเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 และเคยร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท.
คนจุดพลุปลุกระแสต่อต้านดังกล่าว เป็นอดีตนายทหารในกองทัพ ที่ซัดใส่รัฐบาล "อุ๊งอิ๊ง" แบบจัดเต็มว่า ไม่ให้ความสำคัญต่อความรู้สึกของทหาร
แม้จะเป็นนายทหารเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม คนที่สะท้อนความเห็นและจุดยืนเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก สถาบันทิศทางไทย ไม่ใช่นายทหารที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนามและไร้จุดยืน
เพราะ พล.อ.สมเจตน์ เป็นเตรียมนายทหารรุ่น 8 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และเป็นหนึ่งในนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ที่รู้จักกันในนาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุณยะรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น เป็นประธาน
พล.อ.สมเจตน์ เป็นนายทหารที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.วินัย ภัททิยะกุล เลขาธิการ สมช. และเลขาธิการ คปค. บิดาของนายสกลธี ภัททิยะกุล อดีตหนึ่งในแกนนำ กปปส. ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หลังการรัฐประหารครั้งนั้น พล.อ.สมเจตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็น สนช.หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นทหารระดับ "ตัวตึง" ที่มีจุดยืนและผลงานชัดเจน เรื่องไม่เอาระบอบทักษิณ
ไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่า มีนายทหารอีกหลายคนที่คิดสอดคล้องกัน หนึ่งในจำนวนนั้น รวมทั้ง พล.อ.สนั่น มะเริงสิทธิ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และเป็นอดีต สนช.เช่นกัน ที่ได้เผยแพร่เรื่องราวในไลน์กลุ่มอดีต สว. เมื่อ 30 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา และถือเป็นคนจุดประกายให้ พล.อ.สมเจตน์ ต้องลุกขึ้นคัดค้าน "สหายใหญ่"
ส่วนหนึ่งมาจากบันทึกความทรงจำของ พล.อ.สนั่น ที่ได้เขียนบันทึกเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อความมั่นคงในพื้นที่อีสานใต้ ช่วงปี 2520-2525 ซึ่งเป็นช่วงเวลาปฏิบัติการแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์จากจีนที่เข้ามาปฏิบัติการเคลื่อนไหวเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีน รวมทั้งประเทศไทย
พล.อ.สนั่น เขียนถึง "กลุ่มนศ.เข้าป่า" เป็นการเฉพาะด้วย โดยย้ำว่า มีหลายเรื่องที่เป็นประสบการณ์จริง ได้เห็นและเผชิญด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นทั้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่และเป็นผู้ปฏิบัติการด้วย
อันเป็นผลต่อเนื่องจากหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ที่มีการล้อมปราบและเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณสนามหลวง นักศึกษาจำนวนหลายร้อยคน ได้หลบหนีเข้าป่าไปจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
รวมทั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่มีพื้นที่ปฏิบัติการในเขตอีสานใต้
พล.อ.สนั่น ระบุว่า ช่วงปี 2520-2521 ปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บังคับกองพัน รับผิดชอบพื้นที่ชายแดน อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และในช่วงนั้น มีการก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์สายละหานทราย-ตาพระยา จ.สระแก้ว (ขณะนั้นขึ้นอยู่กับ จ.ปราจีนบุรี) จึงมีการปะทะกันกับกลุ่มคอมมิวนิสต์อีสานใต้อยู่เป็นประจำ
กลุ่ม นศ. เดือนตุลาฯ ได้เคยร่วมปฏิบัติการกับเขมรแดงในกัมพูชาไม่น้อยกว่า 5 ปี เมื่อเขมรแดงหมดอำนาจ ในปี 2522 ได้ขึ้นมาปฏิบัติการกับ ผกค.ไทย บริเวณชายแดนบุรีรัมย์และพื้นราบเชิงเขา อีก 4-5 ปี นศ.เหล่านี้ ไม่ได้ออกมามอบตัว ตามคำสั่ง 66/23 แต่ส่วนใหญ่หนีออกไปเรียนหนังสือต่อจนจบทุกคน
"มีสหายบางคนหนีไปเป็นคอมฯ อยู่ในลาว จากดาวแดง ไปเป็นดาวเขียว เช่น สหายใหญ่ ต่อมามีผู้มีอิทธิพล ชักชวนให้มาเข้าพรรคช่วยงานการเมืองตราบถึงปัจจุบัน" เป็นตอนหนึ่งที่ พล.อ.สนั่น ระบุไว้ในบันทึก
และอาจเป็นที่มาของการออกโรงปลุกเร้าทหาร ให้ต่อต้านคนที่เคยเข้าป่า และมีอุดมการณ์ที่แตกต่างจากทหารและกองทัพไทยอย่างชัดเจน แต่กลับจะไปนั่งเก้าอี้ใหญ่ เป็นรัฐมนตรีกลาโหม
เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงนายภูมิธรรม ที่มีข่าวว่าติดรายชื่อในโผ ครม.ที่จะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมโดยตรง ใน ครม.น.ส.แพทองธาร
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส
อ่านข่าว : 70 ได้ลุ้น! กอช.เล็งชง ครม.ชุดใหม่ขยายอายุซื้อ "หวยเกษียณ"
จับตาเลือกประธาน กมธ.วุฒิสภา 21 คณะห่วงสว.สีน้ำเงินพรึบ
เช็กนิยาม "หมาอันตราย" คาดกฎหมายลูกบังคับใช้เร็วสุดสิ้นปีนี้