ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมชลฯ เฝ้าระวังน้ำยม แพร่-สุโขทัย รับมือฝนตกหนักอีกระลอก

ภัยพิบัติ
23 ก.ย. 67
18:45
1,030
Logo Thai PBS
กรมชลฯ เฝ้าระวังน้ำยม แพร่-สุโขทัย รับมือฝนตกหนักอีกระลอก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ หลังสถานีวัดน้ำ อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีแนวโน้มที่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เตือน แพร่-สุโขทัย เตรียมรับมือฝนตกหนักอีกระลอก

วันนี้ (23 ก.ย.2567) จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ ซึ่งแนวโน้มปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.วังชิ้น จ.แพร่ คาดว่าในช่วงค่ำวันนี้ (23 ก.ย.2567) จะแตะที่ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า เนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะทำให้ภาคเหนือตอนบนมีฝนตกหนักมากบางแห่ง นั้น ปัจจุบันพบว่าทางตอนบนของลุ่มน้ำยมมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้มีปริมาณน้ำไหลจากลำน้ำสาขาลงสู่แม่น้ำยมในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ได้ประเมินสถานการณ์น้ำในเบื้องต้น พบว่าที่สถานีวัดน้ำ Y.37 อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีแนวโน้มที่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ในช่วงค่ำของวันนี้ (23 ก.ย.) ก่อนที่มวลน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (ปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์) ในช่วงเช้าของวันถัดไป (24 ก.ย.) โดยขณะนี้ ได้ประกาศแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ข้อมูลไปยัง จ.สุโขทัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม กรมชลประทาน จะใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเต็มศักยภาพ โดยที่ จ.แพร่ จะใช้ฝายแม่ยมทำการหน่วงน้ำไว้ที่ด้านเหนือฝาย เพื่อชะลอปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่ด้านท้ายผ่าน อ.เมืองแพร่ ส่วนที่ จ.สุโขทัย จะใช้คลองหกบาท คลองยมน่าน และแม่น้ำยมสายเก่า เร่งระบายน้ำ เพื่อช่วยตัดยอดน้ำหลากก่อนที่จะเข้าตัวเมืองสุโขทัย พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่าน ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ลงสู่แม่น้ำสายหลัก ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ ไว้รองรับสถานการณ์เผชิญเหตุ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ 

เดินหน้ารับมือบริหารจัดการน้ำควบคู่การเก็บกักน้ำให้มากที่สุด

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 53,859 ล้าน ลบ.ม. (71% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 22,479 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 16,348 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 8,523 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก จากฝนที่ตกด้านท้ายเขื่อน

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,290 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกด้านท้ายเขื่อนสิริกิติติ์ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาด้วยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,049 ลบ.ม./วินาที โดยจะพิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกเพิ่มในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ กรมชลประทาน ได้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ด้วยการแขวนบานประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำในลำน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ พร้อมเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปลายเดือนกันยายนประเทศไทยจะยังคงมีฝน ส่วนมากบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณดังกล่าว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงถึงมากกว่าค่าปกติ จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด มีการใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อย่างเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน 

อ่านข่าว :

ผู้ว่าฯ เชียงราย สั่งดูแลน้ำท่วม "เวียงป่าเป้า"

ฝ่าวิกฤต "ถ้ำผาจม" ระดมเครื่องจักรเร่งกู้บ้านจมโคลน

ปภ.อัปเดตยังมีน้ำท่วม 6 จังหวัด กระทบ 18,087 ครัวเรือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง