ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วัฏจักร "ปล้นปืน" ขวางกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

อาชญากรรม
23 ก.ย. 67
20:23
437
Logo Thai PBS
วัฏจักร "ปล้นปืน" ขวางกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การปล้นอาวุธปืนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการปล้นปืนในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ก่อนปี 2547 แต่การปล้นปืนครั้งนี้ มีแนวโน้มจะนำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีตหรือไม่

หากนับแต่ปี 2547 ปีนี้ครบ 20 ปีของปัญหาชายแดนใต้ แต่ดูเหมือนสถิติความรุนแรง เริ่มกลับมามากขึ้นอีกครั้ง
เพราะเพียงแค่เดือนที่ 9 ของปี มีสถิติสร้างสถานการณ์ เกิดขึ้นแล้ว 441 ครั้ง เทียบกับปี 2566 ที่ทั้งปีมี 481 ครั้ง

การปล้นปืนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา ไม่ใช่ครั้งแรก ที่เกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าภายในพื้นที่ของอุทยาน

ย้อนไปเมื่อปี 2545 มีการปล้นปืนภายในสำนักงานอุทยานแห่งชาติบางลาง และบุกเข้าไปงัดตู้คลังอาวุธของเจ้าหน้าที่ อุยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ทั้ง 2 เหตุการณ์คนร้ายได้อาวุธไปสะสม เพื่อปฏิบัติการกับเป้าหมายแข็ง กองกำลังทหารและตำรวจ 

ก่อนจะปฏิบัติการใหญ่ในปี 2547 บุกปล้นคลังอาวุธของค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 เป็นอาวุธมากที่สุด ที่เคยถูกปล้น เป็นเสบียงยุทโธปกรณ์สำหรับก่อเหตุรุนแรงในอีกนับสิบปีต่อมา

แต่เหตุฮาลา-บาลา จะมีวัฏจักรความรุนแรงเหมือนเช่นในอดีตหรือไม่ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติฮิวแมนไรท์วอทช์ กลับมองว่าปฏิบัติการที่ฮาลา-บาลา ไม่ใช่การปล้นอาวุธเพื่อนำไปใช้กับเป้าหมายแข็ง แต่เพียงเพื่อแสดงศักยภาพของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ เพราะอาวุธที่ปล้นไป ไม่ใช่อาวุธสงคราม ที่จะนำไปใช้ยกระดับการต่อสู้ได้

อุทยานฯ เป็นเป้าหมายที่มีการป้องกันต่ำ หรือจะเรียกว่าเป็นเป้าหมายอ่อนแอเลยก็ว่าได้ แต่จุดที่น่าสนใจคือ อาวุธที่ถูกปล้นไป ไม่ใช่อาวุธสงคราม จะเป็นพวกปืนลูกซอง มีนัยเชิงแสดงศักยภาพมากกว่าหวังผลที่จะนำอาวุธไปใช้ เหมือนปล้นปืนจากค่ายปิเหล็งในอดีต หรือเวลาโจมตีเจ้าหน้าที่จนเสียชีวิต ก็เอาอาวุธของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นอาวุธสงครามไปด้วย เป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง อันนี้มีนัยเชิงจิตวิทยามากกว่า 

ในขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า กระบวนการสันติภาพ ที่เข้าขั้นตอนเจรจาสู่ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น เห็นชอบร่วมกัน 3 หลักการ คือ

การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

ซึ่งมีโรดแม็ปที่จะลงนามภายในปีนี้ เพื่อสร้างสันติสุข ปราศจากความรุนแรงในปี 2568 ไม่ใช่สิ่งที่กองกำลังติดอาวุธในพื้นที่เห็นพ้องด้วย จึงปฏิบัติการความรุนแรงถี่ยิ่งขึ้นในช่วงเวลานี้

คือการพูดคุยสันติภาพ สันติสุขที่ทำกันมา เริ่มถึงทางตันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะข้อถกเถียง ข้อโต้แย้งในเรื่องของ JCPP ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กองกำลังติดอาวุธ ทหารของฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น ไม่ค่อยจะพอใจนัก และใีปฏิบัติการถี่ขึ้นในระยะหลัง เพื่อสะท้อนสิ่งนี้ 

ส่วนความหวังต่อรัฐบาล ภายหลังการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จนถึงแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ แต่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสถานการณ์ภาคใต้ยังมองไม่เห็นความแตกต่างกับยุคเศรษฐา เพราะยังใช้นโนบายการทหารนำการเมือง และยังไม่เห็นแนวทางแก้ปมความรู้สึกให้คนในพื้นที่เรื่องกระบวนการยุติธรรมได้

สุณัย ผาสุข ระบุว่า บีอาร์เอ็นโยนโจทย์ยากมาแล้ว คำถามคือทิศทางนโยบายจะกำหนดอย่างไร เพราะว่ารัฐบาลตอนนี้นโยบายของภาคใต้ไม่ชัด สมช.ก็ยังพูดว่าเหมือนเป็นสุญญากาศ เพราะยังไม่มีการแต่งตั้งเลขาฯ คนใหม่เข้ามาทำงาน กำหนดทิศทางนโยบายความมั่นคง

ในส่วนของฝ่ายทหาร ก็พึ่งเปลี่ยนหัวขบวนกัน จากแม่ทัพคนเก่ามาเป็นคนใหม่ ทีมงานต่อให้เป็นคนในพื้นที่หมดเลย เป็นนายทหารที่อยู่ในพื้นที่มาตลอด แต่พึ่งยกระดับขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการระดับสูง ระดับกำหนดนโยบาย จะนำพาการดูแลความปลอดภัยของประชาชนและพื้นที่ ด้วยมาตรการที่ชั่งน้ำหนักกับทางไหน เพราะว่า เป็นหน่วยในพื้นที่ เป็นเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาตลอดก็คงเห็นแล้วว่า กระบวนการสันติภาพ ไม่สามารถจูงใจบีอาร์เอ็นให้ยุติการก่อความรุนแรงได้ 

สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้ามองจาก คุณภูมิธรรม รองนายกฯ ความมั่นคง ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีแนวคิดอะไร ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไร ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษาสันติภาพอย่างชัดเจน จุดนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนด้วยซ้ำไป ที่ผู้คุมนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่แน่นอน 

แนวโน้มที่ต้องจับตามอง คือภายหลัง 25 ต.ค.นี้ หลังคดีตากใบจะหมดอายุความ และกระบวนการยุติธรรมจะจบลงที่จุดใด หากไม่ตอบสนองความคาดหวังของคนในพื้นที่ รวมถึงฝ่ายรัฐไม่เปลี่ยนแปลงทางนโยบาย สถานการณ์ภาคใต้อาจกลับไปสู่วัฏจักรเดิม จากเหตุปล้นปืนครั้งนี้

อ่านข่าวอื่น :

รู้เบาะแสผู้ก่อเหตุปล้นปืน-เผาอาคารป่าฮาลา-บาลา

อุกอาจ!โจมตี ขสป.ฮาลา-บาลา จับจนท.10 คน-ลอบวางเพลิงบ้านพัก

เปิดภาพความเสียหาย "ฮาลา-บาลา" สั่งคุมปืนหลวง 146 กระบอก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง