ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เสือโคร่งสีทอง" สัตว์หายากที่มีต้นกำเนิดจาก "เสือขาว" ตัวเดียว

ไลฟ์สไตล์
21 พ.ย. 67
15:11
12,372
Logo Thai PBS
"เสือโคร่งสีทอง" สัตว์หายากที่มีต้นกำเนิดจาก "เสือขาว" ตัวเดียว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เสือโคร่งสีทอง การผสมพันธุ์สัตว์ยีนด้อยซ้ำ ๆ ที่มนุษย์ตั้งใจทำ ต้นกำเนิดจาก "Tony" บรรพบุรุษสำคัญจากการผสมพันธุ์เสือขาวและเสือโคร่งสีส้ม จนได้ลูกเสือที่มีลักษณะสีทองอ่อน สร้างความตื่นตาตื่นใจ พร้อมข้อกังขาเรื่องสุขภาพของสัตว์ที่เกิดจาก "เลือดชิด"

"เสือโคร่งสีทอง" หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เสือโคร่งสตรอว์เบอร์รี" สัตว์ป่าที่มีความโดดเด่นจากสีขนที่หาได้ยากในธรรมชาติ ขนของเสือชนิดนี้มีลักษณะสีทองอ่อนผสมขาว พร้อมลายเสือที่จางลงจนแทบเห็นเป็นจุดหรือแถบใหญ่ ความงามที่เป็นเอกลักษณ์นี้เกิดจากยีนด้อยชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ยีนไวด์แบนด์" (Wide Band Gene) ซึ่งเป็นยีนเดียวกันที่ทำให้เกิดเสือโคร่งสีขาวแบบไม่มีลาย

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2567 ไกด์นำเที่ยวและช่างภาพสัตว์ป่า "กุราฟ รามนารายัน" ได้พบกับสิ่งที่ไม่คาดคิดระหว่างการนำทัวร์ในอุทยานแห่งชาติคาซิรังกา (Kaziranga National Park) รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย รามนารายันได้ยินเสียงสัญญาณเตือนจากกวาง ซึ่งบ่งบอกถึงการปรากฏตัวของสัตว์นักล่า ในที่สุด เขาและผู้ร่วมทัวร์ได้พบ "เสือโคร่งสีทอง" หรือ Golden Tabby Tiger ซึ่งเชื่อว่ามีไม่ถึง 30 ตัวจากทั่วโลกที่อยู่ตามธรรมชาติ และนั่นหมายรวมถึง การผสมพันธุ์ตามธรรมชาติของมันด้วย 

ที่มา : IG Gaurav Ramnarayanan

ที่มา : IG Gaurav Ramnarayanan

เสือโคร่งสีทองเป็นสัตว์ที่มีนิสัยนักล่าเหมือนเสือโคร่งทั่วไป โดยอาหารหลักของพวกมันในป่าธรรมชาติคือสัตว์กีบ เช่น กวาง เก้ง และกระทิง นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมชอบน้ำมากกว่าสัตว์นักล่าส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ด้วยสีขนที่โดดเด่นทำให้เสือโคร่งสีทองสูญเสียความสามารถในการพรางตัวตามธรรมชาติ และเป็นเป้าหมายของนักล่าในอดีต ซึ่งก็คือมนุษย์นั่นเอง 

แต่มนุษย์ (อีกเช่นกัน) ก็ยังหาทางดูความสวยงามของเสือโคร่งสีทองได้ในกรงเลี้ยงและสวนสัตว์ นอกจากลักษณะสีขนที่โดดเด่นแล้ว เสือโคร่งสีทองยังมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย ตัวผู้มีความยาวรวมตั้งแต่หัวจรดหางเฉลี่ย 2.70-3.10 เมตร และหนักประมาณ 220-270 กิโลกรัม ขณะที่ตัวเมียมีน้ำหนักเฉลี่ย 140 กิโลกรัม ความสูงเฉลี่ยที่หัวไหล่อยู่ที่ประมาณ 90-110 เซนติเมตร

เสือโคร่งสีทองที่เลี้ยงอยู่ทั้งหมดสืบสายพันธุ์กลับไปยังต้นตระกูลร่วม คือ เสือโคร่งสีขาวที่ชื่อ "โทนี่" ซึ่งถูกเพาะพันธุ์ในอเมริกาเหนือ
ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

Tony-Bhim ต้นตระกูล "เสือโคร่งสีทอง"

เรื่องราวของ Tony และ Bhim มีความสำคัญในการกำเนิดเสือโคร่งสีทอง ผลจากการผสมพันธุ์ของเสือขาว (White Tiger) ที่ได้รับความสนใจจากทั้งโลก เนื่องจากลักษณะเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ของมันในวงการสัตว์โลกและการอนุรักษ์ 

เสือขาว (White Tiger)

"เสือขาว" เป็นเสือโคร่งชนิดหนึ่งที่มีการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้ขนของมันมีสีขาวหรือครีมแทนที่สีส้ม ในขณะที่ลายดำบนตัวของมันยังคงมีอยู่ โดยปกติแล้วเสือขาวจะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น การมองเห็นไม่ดีหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เนื่องจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด (Inbreeding) เพื่อรักษาลักษณะเฉพาะของสีขาวไว้ โดยการผสมพันธุ์ในเสือขาวนั้นมักจะทำในกรงขังเพื่อให้ได้ลักษณะที่ต้องการ แต่ก็มีผลข้างเคียงทางสุขภาพต่อสัตว์เหล่านี้พ่วงมาด้วย

การเกิดเสือขาวเป็นความบังเอิญทางพันธุกรรมในธรรมชาติ แต่ภายหลังมนุษย์ได้นำเสือขาวมาเพาะพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนของมัน ซึ่งก็มีการผสมพันธุ์เสือขาวเพื่อให้ได้ลูกที่มีลักษณะขาวอยู่เรื่อย ๆ
ที่มา : Wikiwand

ที่มา : Wikiwand

ที่มา : Wikiwand

กำเนิดเสือขาว Tony 

Tony เป็นเสือขาวที่เกิดในปี 1983 ที่สวนสัตว์โคลัมบัสในสหรัฐอเมริกา (Columbus Zoo) มีความสำคัญในการขยายพันธุ์ของเสือขาวและนำไปสู่การเกิดเสือโคร่งสีทอง หลังจากที่ Tony เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มันถูกนำไปใช้ในการผสมพันธุ์กับเสือโคร่งพันธุ์อื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่คือเครือญาติของพวกมันเอง เพื่อให้ได้ลักษณะเฉพาะที่จะคงไว้ซึ่งสีขาวให้ได้มากที่สุด 

การผสมแบบเลือดชิดของ Tony อย่างต่อเนื่องทำให้ยีนด้อยเกิดการรวมตัวกัน จนทำให้เสือที่มีลักษณะไม่มีลาย (stripeless phenotype) และส่งต่อยีนลักษณะนี้ผ่านลูกหลาน ไม่ว่าจะแบบแฝงหรือแบบแสดงออกมาอย่างชัดเจน
ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

กำเนิดเสือขาว Bhim 

จากการผสมพันธุ์ของ Tony กับเสือขาวอื่น ๆ ผลลัพธ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือการเกิด "เสือขาว" ตัวหนึ่งชื่อว่า "Bhim" ซึ่งเป็นเสือขาวที่มีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาสายพันธุ์ของเสือโคร่งสีทอง

หลังจากที่ Bhim เกิดมา มันถูกนำไปใช้ในการผสมพันธุ์ต่อไป เฉกเช่นเดียวกับ Tony บรรพบุรุษร่วมของมัน 

Bhim เป็นพาหะของยีนไวด์แบนด์ มันถูกนำไปผสมพันธุ์กับซูมิตา (Sumita) ซึ่งเป็นพี่น้องของมันที่เป็นพาหะของยีนไวด์แบนด์เช่นกัน นอกจากนี้ Bhim ยังถูกผสมพันธุ์กับเสือโคร่งเพศเมียสีส้มปกติที่ชื่อ คิมันธี (Kimanthi) และต่อมาได้ผสมพันธุ์กับลูกสาวของตัวเองที่ชื่อ อินทิรา (Indira) ผลจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด ทำให้ได้ลูกเสือขาวมีลาย เสือขาวไม่มีลาย เสือสีส้มปกติ และ เสือโคร่งสีทอง (ตามตารางชื่อ SONA)

สายบรรพบุรุษการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดของเสือที่มนุษย์คิดค้น

สายบรรพบุรุษการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดของเสือที่มนุษย์คิดค้น

สายบรรพบุรุษการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดของเสือที่มนุษย์คิดค้น

เสือโคร่งสีทอง Sona ที่เกิดจากการผสมของ Bhim และ Indira

เสือโคร่งสีทอง Sona ที่เกิดจากการผสมของ Bhim และ Indira

เสือโคร่งสีทอง Sona ที่เกิดจากการผสมของ Bhim และ Indira

ดาบสองคมเมื่อมนุษย์พยายามควบคุมธรรมชาติ

ลักษณะสีทองอ่อนสวยงามของเสือโคร่งสีทอง ทำให้มันกลายเป็นที่ต้องการในสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงในสวนสัตว์หรือแม้แต่การเก็บรักษาพันธุ์นี้ให้คงอยู่

ทว่าผลจากการกระทำของมนุษย์ที่พยายามจะควบคุมธรรมชาติ กลายเป็น "ดาบสองคม" ที่ทำให้หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของสัตว์เหล่านี้ การผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ แม้จะทำให้เกิดเสือโคร่งสีทองที่มีความสวยงามและเป็นที่นิยม แต่ก็สร้างปัญหาที่ไม่อาจละเลยได้ในเรื่องของสุขภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์

ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

แต่ในปัจจุบัน การผสมพันธุ์เสือโคร่งสีทองไม่ได้เป็นเพียงการรักษาเพื่อความงามหรือความบันเทิงเท่านั้น มันกลายเป็นการพยายามที่จะเก็บรักษายีนของเสือขาวที่มีความสำคัญในด้านการอนุรักษ์พันธุกรรม เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

ในขณะเดียวกัน การผสมพันธุ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้คำนึงถึงการดูแลสุขภาพของสัตว์ และการทำวิจัยเพื่อหาวิธีการที่ทำให้เสือโคร่งสีทองสามารถเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง โดยมีการตรวจสอบด้านพันธุกรรมและการจัดการที่ดี เพื่อให้การอนุรักษ์และขยายพันธุ์เสือโคร่งสีทองเป็นไปในทิศทางที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ

ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

ที่มา : messybeast

การกระทำของมนุษย์อาจจะเคยทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด แต่ในปัจจุบัน สวนสัตว์และนักอนุรักษ์ต่างก็มีการปรับปรุงและทำงานอย่างหนักเพื่อให้แน่ใจว่า "เสือโคร่งสีทอง" จะไม่ถูกมองเป็นเพียงแค่สัตว์ในกรงขัง แต่จะเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการรักษาพันธุกรรมและอนุรักษ์ชีวิตสัตว์ที่น่าทึ่งนี้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : messybeast, The Biggest Animals Kingdom and in The World, zoologicalwildlifefoundation, CNN 

อ่านข่าวอื่น :

ยูเครนยิงขีปนาวุธ "Storm Shadow" รุกดินแดนรัสเซีย

เตรียมตรวจ DNA พิสูจน์อัตลักษณ์ 12 ศพ ที่พบในสำนักสงฆ์สอน หู-ตาทิพย์ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง