เรียกตัวเอี่ยวรับเงินสำนักวิจัยฯสอบ 13 ก.ค. “ไทยพีบีเอส”ยันหากพบคนผิดพร้อมไล่ออก

สังคม
11 ก.ค. 58
14:50
120
Logo Thai PBS
เรียกตัวเอี่ยวรับเงินสำนักวิจัยฯสอบ 13 ก.ค. “ไทยพีบีเอส”ยันหากพบคนผิดพร้อมไล่ออก

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เตรียมเรียกตัวผู้ที่ถูกพาดพิง-เกี่ยวข้อง ว่ารับค่าตอบแทนจากสำนักวิจัยแห่งหนึ่งมาสอบสวนวันจันทร์ที่ 13 ก.ค.นี้ ส่วนกรณีอ้างถึงไทยพีบีเอส หากสอบพบเป็นพนักงานคนใดก็จะลงโทษถึงขั้นไล่ออกทันที

วันนี้ (11 ก.ค.2558) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา เปิดเผยผลการสอบข้อเท็จจริงของสำนักวิจัยและศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งบริหารค่าใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์จากที่สถาบันกำหนดไว้ มีรายจ่ายค่าตอบแทนสื่อมวลชน กว่า 4,400,000 บาท และไม่เพียงแค่ข้อมูลนี้ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรวิชาชีพ ที่กำกับดูแลสื่อเท่านั้น

หากแต่นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ซึ่งมีสถานะเป็นสื่ออาวุโส เห็นว่า ก่อนสื่อมวลชนจะทำหน้าที่ตรวจสอบทุกประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐ จำเป็นต้องมีความบริสุทธิ์โปร่งใส และถูกตรวจสอบได้เช่นกัน

ก่อนหน้านี้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีเดียวกัน แต่เป็นพฤติการณ์ของบุคคล ที่รับเงินเป็นค่าตอบแทน และแม้ผลการสอบสวน จะพบปัญหาการบริหารบุคคลากร และปัญหาภายใน แต่ผู้บริหารของสำนักวิจัยหรือศูนย์วิจัย กลับยืนยันความถูกต้อง

แต่เมื่อมีข้อมูลขยายพฤติการณ์ นายเจษฎา อภิจารี กรรมการ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า จะประชุมขยายประเด็นสอบและวางกรอบขอเอกสาร หรือการเชิญบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างมาให้ข้อมูลด้วย ในวันจันทร์ที่ 13 ก.ค.นี้ และจากข้อมูลที่มีการอ้างถึงไทยพีบีเอสนั้น คณะผู้บริหารได้มอบหมายให้สำนักตรวจสอบภายในองค์กร ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอน ซึ่งหากพบความผิด ก็พร้อมจะลงโทษทางวินัย ด้วยการไล่ออก

ก่อนหน้านี้ปี 2554 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หลังมีข่าวอ้างอิงว่าฝ่ายการเมือง ให้สินบนสื่อ และแม้หน่วยงานต้นสังกัดของฝ่ายผู้ถูกพาดพิงจะไม่พบว่ามีมูลการรับสินบน แต่ผลสอบครั้งนั้นก็ชี้ว่ามีข้อมูลความจริง ด้วยพรรคการเมือง มีงบฯในการบริหารจัดการสื่อ แต่ปัญหาและอุปสรรคของคณะกรรมการ ที่ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง คือการอ้างว่าไม่มีอำนาจ

ทั้งที่เชื่อได้ว่าผู้ถูกพาดพิงบางรายมีพฤติกรรมขัดต่อวิสัยปกติของบุคคลทั่วไป ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทำได้เพียงเสนอให้ตักเตือน และนี่อาจเป็นอีกบริบทหนึ่ง ที่สื่อมวลชนและฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนข้อเสนอของกลุ่มวิชาชีพสื่อ ซึ่งยื่นหนังสือต่อสปช. ด้วยข้อเสนอการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อมวลชน ทั้งในสถานะองค์กรวิชาชีพ หน่วยงานและสมาชิก ให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง