ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เลือกตั้ง อบจ." สำคัญอย่างไร "นายก อบจ. - ส.อบจ." มีหน้าที่-อำนาจอะไร

การเมือง
27 พ.ย. 67
12:24
2,501
Logo Thai PBS
"เลือกตั้ง อบจ." สำคัญอย่างไร "นายก อบจ. - ส.อบจ." มีหน้าที่-อำนาจอะไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. สำคัญอย่างไร "นายก อบจ." และ "ส.อบจ." มีหน้าที่-อำนาจอะไร หลายคนมองว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเมืองระดับชาติ อย่าง สส.-สว.

วันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568 ที่จะถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศให้เป็นวันเลือกตั้ง หลัง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่ได้รับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 19 ธ.ค.2567 นี้ โดย วันที่ 23 - 27 ธ.ค.2567 จะรับสมัครผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้ที่กำหลังจะหมดวาระไป     

อ่านข่าว : เลือกตั้งท้องถิ่น-อบจ. ทำไมต้อง “บ้านใหญ่”

แต่ระหว่างทางก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นนั้นคือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในหลายจังหวัด หลายคนทยอย "ลาออก" ก่อนครบวาระ นายก อบจ. โดยแต่ละคนต่างยกเหตุมาอธิบายที่แต่กต่างกัน แต่ยังทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า เหมาะสมหรือไม่

ส่วนหนึ่งอาจมองว่า เหตุผลทางการเมือง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการห้ามดำเนินกิจกรรมที่อาจถูกมองว่าเป็นการหาเสียงในช่วง 180 วัน ก่อนหมดวาระ และหากยังดำรงตำแหน่งอาจทำให้ถูกจำกัดในการดำเนินกิจกรรมบางอย่าง เช่น การใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองได้ เป็นต้น 

จึงอาจเป็นไปได้ว่า การที่ผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนครบกำหนดเวลาเป็นไปเพื่อป้องกันการถูกร้องเรียน เพราะอาจมีบางกระทำที่เข้าข่ายข้อห้ามซึ่ง กกต. สามารถวินิจฉัยและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ได้ 

นอกจากนี้ การลาออกก่อนครบวาระทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งบางจังหวัดอาจต้องเลือกตั้ง 2 ครั้ง ส่งผลให้ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นด้วย 

ดังนั้น ในปีนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวของภาคการเมืองท้องถิ่นที่ผู้บริหารท้องถิ่นลาออกก่อนครบวาระ มีรายงานว่านับตั้งแต่ 23 มิ.ย.2565 จนถึง 29 ต.ค.2567 พบข้อมูลมี "นายก อบจ." พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ รวม 29 จังหวัด โดย 27 จังหวัด เป็นการลาออกก่อนครบวาระ ประกอบด้วย สระแก้ว กาญจนบุรี เลย นครสวรรค์ พะเยา

พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ชัยภูมิ อ่างทอง พิษณุโลก ราชบุรี ปทุมธานี ยโสธร ระนอง อุทัยธานี ชุมพร สุโขทัย ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช กำแพงเพชร ตาก อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์

ส่วนอีก 2 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 สั่งให้เลือกตั้งใหม่ 

หลายคนมอง ผู้นำท้องถิ่น อย่าง นายก อบจ.นับเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเมืองระดับชาติ อย่าง สส.-สว. วันนี้จะพาไปทำความเข้าใจให้มากขึ้น 

อ่านข่าว ประชาชนเตรียมใช้สิทธิ์! เลือกตั้ง อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568

องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. สำคัญอย่างไร 

มาทำความเข้าใจ "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" หรือที่เรียกย่อว่า "อบจ." เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีจังหวัดละ 1 แห่ง เขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด 

"องค์การบริหารส่วนจังหวัด" มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาท้องถิ่นและการบริหารจัดการในระดับจังหวัด เพราะ อบจ. เป็นหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่และอำนาจในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในจังหวัด ซึ่ง "โครงสร้างการบริหาร" ประกอบด้วย "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" เป็น "ฝ่ายบริหาร" และ "สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด" เป็น "ฝ่ายนิติบัญญัติ"

"อำนาจ" และ "หน้าที่" 

องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริการส่วนจังหวัด 

  • ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
  • จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริการส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
  • บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
  • จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก
  • ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนในการดูแลการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อย

สำหรับการกำกับดูแล "ผู้ว่าราชการจังหวัด" มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของ "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ

อย่างที่บอก อบจ. มีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นและการบริหารจัดการในระดับจังหวัด แล้วการได้มาซึ่ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นั้นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีที่มา ดังนี้

  • นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
  • สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกเกิน 1 คน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะพึงมีในอำเภอนั้น และมีสมาชิกเขตเลือกตั้งละ 1 คน

วาระการดำรงตำแหน่ง "นายก อบจ." - "ส.อบจ."

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) : อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง

สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) : อายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

แต่ละจังหวัดจะมี "ส.อบจ." จำนวนเท่าไร  

แต่ละจังหวัดจะมี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวนเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนราษฎรของจังหวัดนั้น โดยกำหนดไว้ดังนี้

  • จำนวนราษฎรไม่เกิน 500,000 คน จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 24 คน
  • เกิน 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 30 คน
  • เกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 36 คน
  • เกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 42 คน
  • เกิน 2 ล้านคนขึ้นไป จำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 48 คน

การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

ประกาศ กกต. เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดูรายละเอียด

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง "นายก อบจ." - "ส.อบจ."

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  • มีสัญชาติไทย แต่หากแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  • และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบขับขี่, หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เตรียมความพร้อมอะไรบ้าง

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน : ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน : ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

2. การเพิ่มชื่อ - ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน : หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านของตนไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริงให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 

ใครมีเหตุไม่จำเป็นไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ หรือ ทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือแจ้งด้วยตนเอง หรือส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ต้องแจ้งเหตุในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ก่อนการเลือกตั้ง 7 วัน หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง 

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

หากไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ระวังถูกจำกัดสิทธิ

การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง 
  • สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.) หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
  • สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  • เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.)
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

คนพิการ หรือ ทุพพลภาพ หรือ ผู้สูงอายุ ในการลงคะแนนเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียง ลงคะแนน ให้กับ คนพิการ หรือ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)

ในการช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือ กปน. เป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ขั้นตอนการใช้สิทธิลงคะแนน ทำอย่างไรบ้าง

  • ตรวจสอบรายชื่อ ณ จุดเลือกตั้ง 
  • ยื่นหลักฐานแสดงตน พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ

  • รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  • เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย 

- บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน

- บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่ แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี

  • นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง
เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

การกระทำแบบใด ผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 

ห้ามมิให้ 

  • ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง พยายามออกเสียงลงคะแนน หรือออกเสียงลงคะแนน
  • ผู้ใดจงใจกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งที่ตนได้รับจาก กปน. ชำรุดหรือเสียหาย หรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้
  • ผู้ใดซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง
  • ผู้ใดใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง
  • ผู้ใดจงใจทำเครื่องหมายโดยวิธีใดไว้ที่บัตรเลือกตั้ง นอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนน
  • ผู้ใดนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

จับตาศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ. 5 จังหวัดสุดท้าย ก่อนหมดวาระในวันที่ 20 ธ.ค. 67

ไทยพีบีเอสชวนเกาะติดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในวันที่ 1 ธ.ค. , 15 ธ.ค. และ 22 ธ.ค.นี้ โดยสามารถติดตามรายงานผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ. ได้ทางออนไลน์ Thai PBS News 

อ้างอิงข้อมูล : คณะกรรมการการเลือกตั้ง

อ่านข่าว : “กลาโหม” จี้ “กองทัพว้าแดง” ถอนกำลังออกจากเขตแดนไทย

บอร์ด กอน.ไฟเขียวเปิดหีบอ้อย ปี 67/68 เริ่ม 6 ธ.ค.นี้

 “ทองคำ” เปิดตลาดร่วง 500 บาท นักลงทุนแห่เทขาย หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง