ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทรัมป์" สั่งปลดที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ

ต่างประเทศ
2 พ.ค. 68
07:02
317
Logo Thai PBS
"ทรัมป์" สั่งปลดที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ
อ่านให้ฟัง
06:26อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลดไมค์ วอลทซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่ง และให้เป็นผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติแทน ขณะที่บางส่วนคาดเซ่นปมทำแชทหลุดเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันที่ 1 พ.ค.2568 ตามเวลาท้องถิ่น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งปลดไมค์ วอลทซ์ ที่ปรึกษาด้านความแห่งชาติออกจากตำแหน่ง พร้อมระบุผ่านทรูธโซเชียล ว่า จะเสนอชื่อวอลทซ์เป็นผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติคนต่อไป โดยไมค์ วอลท์ซ ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นอันดับแรก

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าหน้าที่วงในครั้งใหญ่ครั้งแรกของทรัมป์ นับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยทรัมป์จะแต่งตั้งมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งที่ว่างลงของวอลทซ์ เป็นการชั่วคราว

ในวันเดียวกัน มีแหล่งข่าวหลายคนระบุว่า ทรัมป์ตัดสินใจบีบให้วอลท์ซออกจากตำแหน่งในทำเนียบขาว

ทั้งนี้ กรณีที่ทรัมป์เลือกรูบิโอให้ดำรงตำแหน่งแทนวอลทซ์เป็นการชั่วคราว จะถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ Henry Kissingerในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่ตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศ และที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเป็นคนเดียวกัน

ขณะที่วอลทซ์ ยืนยันว่า จะไม่เป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อีกต่อไป แต่จะรับการเสนอชื่อให้เป็นผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติแทน พร้อมระบุว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่รับใช้ประธานาธิบดีทรัมป์ และประเทศอันยิ่งใหญ่ต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากที่ Jeffrey Goldberg บรรณาธิการของ The Atlantic ออกมาเปิดเผยว่า ถูกดึงเข้าไปในกลุ่มแชทในแอปพลิเคชัน Signal โดยบัญชีที่ใช้ชื่อของ Michael Waltz ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ จากนั้นจึงได้รับข้อความรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับแผนการโจมตีในเยเมน

สหรัฐฯ มองข้อตกลงแร่ธาตุ เสริมแต้มต่อเจรจารัสเซีย

ส่วนอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์กับยูเครน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และการจัดตั้งกองทุนการลงทุนเพื่อการฟื้นฟูยูเครน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยเสริมจุดยืนในการเจรจากันระหว่างทรัมป์ กับรัสเซีย

ขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้ออกมาระบุถึงข้อตกลงดังกล่าว แต่ทางด้าน Dmitry Medvedev อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวหมายความว่าทรัมป์จะทลายยูเครน เนื่องจากยูเครนต้องจ่ายคืนความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ด้วยทรัพยากรแร่ธาตุที่มี

ขณะที่ Scott Bessent รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ระบุระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่น ว่า ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจนสำหรับผู้นำรัสเซีย และทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีแต้มต่อที่จะเจรจากับรัสเซียบนพื้นฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวนี้เหมือนจะส่งสัญญาณไปยังรัสเซียว่า สหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนยูเครนอยู่ต่อ

ผลประโยชน์จากกองทุนนี้จะถูกนำกลับเข้ามาลงทุนในยูเครนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะสนับสนุนความช่วยเหลือครั้งใหม่ให้กับยูเครนด้วย อาจรวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศ และยูเครนไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้เพื่อชดเชยความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้นับตั้งแต่เกิดสงครามเมื่อปี 2022

ความร่วมมือของสหรัฐฯ และยูเครนครั้งนี้ จะช่วยดึงดูดให้ชาติตะวันตกเข้ามาลงทุนในโครงการด้านแร่ธาตุน้ำมันและแก๊สของยูเครน ซึ่งทรัพยากรดังกล่าวจะยังเป็นทรัพย์สินของยูเครน และยูเครนมีอำนาจในการเลือกว่าจะยอมให้มีการขุดแร่ในบริเวณใดบ้าง โดยทั้งสหรัฐฯ และยูเครนจะได้รับผลประโยชน์เท่า ๆ กัน

การลงนามข้อตกลงครั้งนี้ มีขึ้นหลังจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และยูเครน ยืดเยื้อมานานหลายเดือน เป็นผลให้การลงนามล่าช้ากว่ากำหนดเดิม 2 เดือน ขณะที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของสงคราม สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครนไปแล้วมากถึง 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.4 ล้านล้านบาท

ผู้เชี่ยวชาญมองข้อตกลงแร่ยูเครนสร้างผลประโยชน์ได้ช้า

ส่วนในเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินจากข้อตกลงแร่ธาตุ น่าจะใช้เวลาเป็นสิบปีหรือมากกว่านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญบางส่วน มองว่า เป็นเรื่องยากที่จะสามารถดึงแร่ภายในยูเครนออกมาได้เลยท่ามกลางภาวะสงคราม รวมทั้งยังไม่มีสิ่งการันตีว่าแร่เหล่านั้นจะสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังคงมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่จะยืนยันว่าแหล่งแร่ส่วนใหญ่ในยูเครนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานของยูเครน เช่น ไฟฟ้าและการขนส่ง ก็ถูกทำลายจากสงครามที่ยืดเยื้อมานานมากกว่า 3 ปีแล้ว และไม่มีการรับประกันความปลอดภัยในอนาคต ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้นักลงทุนหันไปหาทางเลือกอื่นในการลงทุนแร่ธาตุที่สำคัญในประเทศที่ไม่ได้ทำสงคราม

แม้ว่าผลประโยชน์ทางการเงินจากข้อตกลงนี้จะยังไม่แน่นอน แต่เจ้าหน้าที่ยูเครนหลายคนก็ยกย่องว่าเป็นความก้าวหน้าทางการเมือง โดยเชื่อว่าข้อตกลงนี้จะช่วยเสริมการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อยูเครน ที่กำลังต้องการการสนับสนุนจากสหรัฐฯ อย่างมาก โดยเฉพาะอาวุธและเงินอุดหนุนเพื่อต้านทานการรุกรานของรัสเซีย

อ่านข่าว : มัสก์ยังอยู่! TESLA ยันข่าวหา CEO ใหม่เป็น "ข่าวปลอม" 

ข้อมูลลับ! ปากีสถานอ้างอินเดียเตรียมทหาร "โจมตี" ภายใน 36 ชม. 

"ทรัมป์" โทษ GDP หดตัวเป็นผลจากรัฐบาลชุดก่อน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง