ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ปธ.กป.อพช.” เปิด 9 เหตุผล 2 ข้อเสนอ ที่ไทยไม่ควรมีกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC และ SEC)

เศรษฐกิจ
2 พ.ค. 68
10:27
101
Logo Thai PBS
“ปธ.กป.อพช.” เปิด 9 เหตุผล 2 ข้อเสนอ ที่ไทยไม่ควรมีกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC และ SEC)
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันที่ 25 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา นายสมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้เข้าร่วมให้ความเห็นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้เชิญนักวิชาการด้านกฎหมาย ภาคประชาสังคม และผู้แทนจากสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ซึ่งมีการให้ข้อมูลและบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างน่าสนใจ อันเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี และมีการนำเสนอกันอย่างตรงไปตรงมา ทำให้เห็นถึงข้อสังเกตและเหตุผลสำคัญ อันทำให้เห็นถึงความไม่จำเป็นต่อการมีกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษ ที่ไม่ได้วิเคราะห์กันเพียงร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC เท่านั้น แต่รวมไปถึงได้วิเคราะห์กฎหมาย EEC ไปพร้อมกันด้วย ดังนี้

1.ทุกคนยอมรับว่า ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่มีอยู่ทั้ง 4 ฉบับในขณะนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกัน อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด และจำนวนหมวดและมาตรา ซึ่งร่างกฎหมายทั้งหมดนี้ลอกมาจากพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 หรือ ที่เรียกว่ากฎหมาย EEC

2.ทุกคนยอมรับว่า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 (EEC) เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการใช้อำนาจพิเศษ หรือ ม.44 ซึ่งเป็นยาวิเศษของรัฐบาลในยุคนั้น นั่นหมายความว่า ประชาชนแทบจะไม่สามารถหรือไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน หรือเห็นต่างกับกฎหมาย EEC ได้ จนทำให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านมาได้แบบง่ายดาย โดยไม่มีส่วนร่วมจากประชาชนแม้แต่น้อย

3.ปัจจุบัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 บังคับใช้มาแล้วเป็นปีที่ 7 ซึ่งในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 77 กำหนดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้กฎหมายเมื่อผ่านเวลาไปแล้ว 5 ปี ว่า กฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบกับประชาชนอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากฎหมาย EEC มีปัญหาอย่างมากในเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมลและมลพิษในพื้นที่ ร่วมถึงการดูแลคุณภาพชีวิตและการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการของผู้ประกอบการ

4.การลอกกฎหมาย EEC ของพรรคการเมืองและของรัฐบาล มาทำเป็นร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ทั้ง 4 ฉบับ (SEC) กำลังนำกฎหมายที่ล้มเหลวจากภาคตะวันออก มาใช้ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองและรัฐบาลไม่ควรกระทำ หรือหากจะยืนยันที่จะใช้แนวของกฎหมายดังกล่าว ก็จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย EEC เสียก่อน

5.กฎหมาย EEC เกิดขึ้นในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศ ที่มีการดำเนินงานโดยการนิคมอุตสาหกรรมและการท่าเรือแห่งประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งประชาชนในพื้นที่ต้องรับสภาพกับการมีกฎหมาย EEC ที่รัฐบาลเพิ่งมาสร้างอำนาจพิเศษ เพื่อจัดการกับความผิดพลาดหรือต้องการใช้อำนาจในทางลัดเพื่อดำเนินการบางอย่าง จึงเป็นสภาวะที่ประชาชนถูกมัดมือชก เพราะไม่รู้ว่าจะนำไปสู่ผลดีและผลเสียต่อการมีกฎหมายฉบับนี้อย่างไร

ในขณะที่ภาคใต้ ในพื้นที่ที่รัฐบาลจะนำกฎหมายดังกล่าวมาใช้เบื้องต้น 4 จังหวัด (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) ไม่ได้เป็นพื้นที่หรือเขตนิคมอุตสาหกรรมมาก่อน หากแต่เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่ทำกินทั้งด้านการเกษตรและการประมง จึงเป็นสิ่งที่จะต้องแลกไปกับนโยบายการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวนั้นมีบริบทที่แตกต่างกันสุดขั้ว

6.มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังกำหนดไว้ในเชิงหลักการว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน จึงมีข้อสังเกตว่าการสร้างกฎหมายพิเศษเพื่อคนพิเศษ เช่น กฎหมาย EEC และ SEC มีความจำเป็นจริงหรือไม่ ทั้งที่มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนมาแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2520 และมีการปรับปรุงเรื่อยมาหลายครั้งจนถึงปัจจุบันอยู่แล้ว อันเป็นการสร้างมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติมากมาย

รวมไปถึงการมีองค์การที่ดำเนินการด้านส่งเสริมเขตอุตสาหกรรมอยู่แล้วอย่าง กนอ. หรือการนิคมอุตสาหกรรม ที่สามารถทำหน้าที่ตามความหมายของกฎหมาย EEC และ SEC ได้ ดังนั้นการมีกฎหมายพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกมีความจำเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร หรือเพราะต้องการอาศัยกฎหมายดังกล่าวไปเพื่อสิ่งใครหรือไม่

7.มีการออกตัวของเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของสำนักงาน EEC ในเวทีแห่งหนึ่งว่า แม้จะมีอำนาจพิเศษอย่างมากตามที่กฎหมายระบุไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้วในทางปฏิบัติ แทบจะทำตามอำนาจดังกล่าวนั้นไม่ได้ เพราะยังต้องคำนึงถึงความเป็นจริงของระบบระเบียบราชการไทย ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการได้ทั้งหมด

นั่นหมายความว่า การระบุอำนาจล้นฟ้าของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจจะไม่สามารถทำได้ตามนั้นจริง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้ว จะมีความจำเป็นอะไรที่จะต้องมีกฎหมายที่สร้างอำนาจพิเศษจนเกินจริงอย่าง EEC และ SEC

8.รัฐบาล และพรรคการเมือง ไม่ควรอ้างความชอบธรรมว่า ร่างกฎหมาย SEC เป็นการเสนอกฎหมาย ที่เคยมีอยู่แล้วจากภาคตะวันออก ด้วยเพราะเหตุปัจจัยและบริบททางการเมืองที่แตกต่างกันในยุคเผด็จการ (คสช.) กับยุคปัจจุบันที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า

ด้วยลักษณะของกฎหมายดังกล่าว มีการสถาปนาอำนาจพิเศษเพิ่ม หรือซ้อนเข้ามาทับกับอำนาจรัฐบาล ที่มีองค์ประกอบของกลุ่มทุนใหญ่ซ่อนอยู่ในกลไกการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะมีอำนาจเทียบเท่าอำนาจสูงสุด ในการบริหารราชการแผ่นดินแบบแนบเนียน อันเป็นกลุ่มคนพิเศษที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด

9.ร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ทั้ง 4 ฉบับ อาจเข้าข่ายไม่สอดคล้องและผิดรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ทั้งมิติด้านเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มิติด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน สิทธิการพัฒนา สิทธิทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมายระหว่างพลเมืองไทยกับผู้ประกอบการ (ต่างชาติ)

นอกจากนี้ นายสมบูรณ์ยังเสนอทางออกต่อเรื่องนี้แบบด่วน ๆ ในเบื้องต้น คือ 1.ประชาชนไทย กลุ่มองค์กรเครือข่ายองค์กรทางสังคม นักกฎหมาย นักวิชาการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา สื่อมวลชน และอื่น ๆ ควรจัดให้มีการศึกษา ชำแหละให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่จะทำให้ได้ย้อนกลับไปดูต้นตอของกฎหมายฉบับนี้ (EEC) ไปพร้อมกันโดยอัตโนมัติ

2.รัฐบาลและพรรคการเมืองต้องทบทวนแนวคิด แนวนโยบายที่จะสร้างกฎหมายพิเศษเพื่อคนพิเศษ โดยต้องยึดหลักการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะต้องคำนึงถึงสิทธิความเท่าเทียมของพลเมือง ที่ต้องไม่ละเลยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานของกฎหมายที่เท่าเทียมกันระหว่างพลเมืองกับผู้ประกอบการ

ด้วยการยุติการผลักดันร่างกฎหมายระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ SEC พร้อมกับการศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย EEC ที่หากพบว่าเป็นภาระกับประชาชนก็จะต้องยกเลิกการใช้กฎหมายดังกล่าว

อ่านข่าว : “กกต.” รณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาล 11 พ.ค.นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง