ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศึกชิงนายกเล็ก “ปชน. ชน บ้านใหญ่” ยุค เพื่อไทย ”ขายไม่ออก”

การเมือง
6 พ.ค. 68
14:38
134
Logo Thai PBS
ศึกชิงนายกเล็ก “ปชน. ชน บ้านใหญ่” ยุค เพื่อไทย ”ขายไม่ออก”

นับถอยหลัง 11 พ.ค.2568 นี้ จะเป็นการเปิดศึกชิง “นายกเล็ก” ในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้ง นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) จังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 2,121 แห่ง และการเลือกตั้งเฉพาะสมาชิกสภาเทศบาล จำนวน 348 แห่ง ยกเว้น กทม.เป็นสนามเลือกตั้งที่มีการเลือกกว่า 2,469 แห่ง ขณะนี้หลายพื้นที่การหาเสียงเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการงัดกลยุทธ์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

และตำแหน่งที่ต้องจับจ้องเป็นพิเศษ คือ ศึกเลือกตั้ง “นายกเทศมนตรี” หรือ “นายกเล็ก” ซึ่งเป็นการชิงอำนาจการเมืองท้องถิ่น ที่อาจสะท้อนภาพให้เห็นการเมืองในสนามระดับชาติปี 2570 โดยครั้งนี้ ถือเป็นเวทีประลองกำลังระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ เพื่อไทยและประชาชน และกลุ่มบ้านใหญ่ ก่อนศึกใหญ่จะมาถึง

รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สะท้อนภาพศึกชิงเลือกตั้งนายกนายก อบจ.ที่ผ่านมาและสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) ที่กำลังจะมาถึงกับ “ไทยพีบีเอส ออนไลน์” ว่า จะมีผลกระทบต่อสนามการเมืองในระดับชาติปี 2570 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะพรรคประชาชน ที่กำลังวางยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างฐานการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ตั้งแต่ระดับนายก อบจ.จนถึงสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) และปัจจุบันได้ประกาศรับผู้สมัครลงเลือกตั้งองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ด้วย

ประเมินเวทีท้องถิ่นหากพรรคประชาชนชนะการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสสร้างฐานคะแนนนิยมต่อ โดยใช้โอกาสสร้างการบริหารจัดการท้องถิ่นให้อยู่ได้ จะเห็นว่าการเลือกตั้ง นายก อบจ.ลำพูน ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่ไปด้วยตนเอง เนื่องจากต้องใช้ จ.ลำพูน เป็นโมเดลทางการเมือง ถ้าพรรคประชาชนสามารถบริหารงานได้ดี ก็จะสร้างคะแนนนิยมในระยะยาวได้ เช่นเดียวกับเทศบาล

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่าพรรคประชาชนอาจเห็นว่า อยากมีบทบาทในการบริหารเทศบาล ก็ต้องมีนายกเทศมนตรี ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของเขา คือ จะส่งผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครเป็นหลัก เนื่องจากเป็นเทศบาลขนาดใหญ่สุดกว่าเทศบาลทั้งหมด มีอำนาจหน้าและงบประมาณที่มาก ที่สำคัญมีกลุ่มชนชั้นกลางเยอะซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยพึ่งพานักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มบ้านใหญ่ เพราะสามารถดูแลตนเองได้ระดับหนึ่ง และไม่ค่อยรู้จักนักการเมืองท้องถิ่นมากเท่าที่ควร

ถ้ากระแสพรรคประชาชนที่มีอยู่และใช้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ข้อมูลเหล่านี้ก็ถึงประชาชนได้ง่าย…สังเกตจากการทำคอนเทนต์สื่อสารทางการเมือง พรรคประชาชนจะทำเหมือนกัน คือ เสื้อผ้า หน้าผม และนโยบาย คือ ต้องการทำนโยบายให้พุ่งตรงไปสู่ชนชั้นกลาง ที่เขาหวังว่า ในเขตเทศบาลนครก็จะออกมาเลือกตั้งบ้าง และมีโอกาสชนะเพื่อจะได้ใช้เทศบาลเป็นฐานทางการเมืองต่อ

โดยในส่วนของเทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล มีข้อมูลว่า พรรคประชาชนจะให้สิทธิของ สส.และ ส.อบจ.ในพื้นที่เป็นคนตัดสินใจ โดยประเมินว่า การที่มี สจ.และ ส.อบจ. มีฐานคะแนนอยู่แล้ว จากผลการชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถ้าเขาตัดสินใจส่งผู้สมัคร สจ.กับ สส.จะต้องเอาฐานคะแนนหรือฐานเสียงเดิมที่มีอยู่มาช่วยผู้สมัคร

เครือข่ายบ้านใหญ่ ใต้ร่มเงาพรรคการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไม่ว่าจะสนามเล็ก หรือใหญ่ก็ต้องมี “บ้านใหญ่” และมี “บ้านใหม่” ขึ้นทาบรัศมี โดยมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง แม้จะไม่ได้ออกหน้าโจ่งแจ้ง เช่น ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งเป็นศึกสามเส้าที่ เขต จ.ชลบุรี มี 48 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเทศบาล บ้านใหญ่ส่งคนลงสมัครประมาณ 40 ที่นั่ง หรือเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มพลังใหม่ของนายสุชาติ ชมกลิ่น ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 9 คน และพรรคประชาชน ก็ส่งผู้สมัครเข้าท้าชิงเช่นกัน

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า การเมืองท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับทุกระดับ แต่ละพรรค จึงออกตัวเยอะไม่ได้ หากคนเห็นต่างกันมากจะมีผลกระทบต่อพรรคในระยะยาว จึงต้องอาศัยฐานของบรรดาบ้านใหญ่ ขณะที่บ้านใหญ่ก็จะส่งคนในเครือข่ายลงสมัคร

หากคนของ “บ้านใหญ่” ชนะการเลือกตั้งในเขตเทศบาล ก็จะได้เป็นฐานเครือข่ายคะแนนเสียง คะแนนจัดตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะที่พรรคส่วนมากจะอยู่เบื้องหลังอย่างลับ ๆ ไม่ว่า บ้านใหญ่ บ้านใหม่ จะอยู่กับพรรคไหน ก็จะมีการสนับสนุนในทางลับ แต่โดยมากบ้านใหญ่ มักไม่ค่อยทุ่มเทให้กับพรรคมากเท่าไหร่ เพราะยังไม่ทราบว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะอยู่สังกัดพรรคไหน จึงต้องชิงความได้เปรียบในพื้นที่ไว้ก่อน

“ปชน.” อ่านเกมพลาด โอกาส “บ้านใหญ่” กระชับอำนาจ

ศึกชิงเก้าอี้นายกเล็กในครั้งนี้ แม้พรรคประชาชน จะมีลุ้นในหลายจังหวัดและหลายพื้นที่ โดยส่งผู้สมัครลงนายกเทศมนตรี และ สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) 39 จังหวัด 101 เทศบาล , เทศบาลนคร 16 แห่ง ,เทศบาลเมือง 28 แห่ง , และเทศบาลตำบล 57 แห่ง มีการส่งหัวหน้าพรรค หรืออดีตหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่ไปช่วยผู้สมัครหาเสียง

แต่ รศ.ดร.โอฬาร มองว่า พรรคประชาชน ไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากการเมืองท้องถิ่นตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจ ถ้าพรรคต้องการทำงานการเมืองท้องถิ่นจริง ๆ ต้องพยายามหาตัวบุคคลตั้งแต่เนิ่น ๆ และเปิดตัวให้ประชาชนรู้จักและคุ้นเคย แต่ทุกครั้งกลายเป็นหาตัวผู้สมัครมาลงแบบกระชั้นชิด

“ถือเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาชน กว่าจะได้คนลงสมัครก็จะถึงเวลาลงเลือกตั้งแล้ว พอกระชั้นมาก ๆ คนก็ไม่รู้จัก ก็ต้องไปหาตัวช่วย โดยให้นายพิธา หรือคนอื่น ๆ ไปช่วย ก็อาจมีกระแสในระดับหนึ่ง แต่ชาวบ้านเขารู้ว่า เขาต้องการผู้ที่จะมาทำหน้าที่บริหารแทน ซึ่งไม่ใช่ นายพิธา หรือนายธนาธร ตรงนี้เป็นการวางแผนพลาดมาตลอดของพรรคประชาชน”

แม้สิ่งที่พรรคประชาชนใช้เป็นกลยุทธ์ที่อาจจะชนะ แต่จากการประเมินเชื่อว่า อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ชนะไม่มากนัก แต่ประเด็นสำคัญมากกว่านี้ คือ เมื่อผลตอบรับการเลือกตั้งออกมา

นับจากนี้จะทำให้บ้านใหญ่ใช้โอกาสกระชับอำนาจและสร้างเครือข่ายได้มากขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้พวกบ้านใหญ่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้มากกว่า

“บ้านใหม่มีสิทธิเกิดในบางพื้นที่ เพราะทุกพื้นที่มีการปรับตัวกันหมด เช่น บ้านใหญ่ก็จะมีนโยบายที่แหลมคมมากกว่า คอนเทนต์ เนื้อหา และต้องมาดูว่าสุดท้ายประชาชนให้น้ำหนักกลุ่มไหนมากกว่ากัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ทุกบ้านล้วน ต้องใช้เงินมาก และสุดท้าย ใครยิงกระสุนและเข้าเป้ามากกว่า ก็ชนะไป ... บางเทศบาลที่เป็นฐานของบ้านใหม่ เขาใส่กระสุนยิงกันไม่ยั้ง พร้อมจะซื้อ แต่บางพื้นที่รู้ว่าสู้ไม่ได้ก็ต้องถอย และขอเข้ามาอยู่ในบ้านใหญ่ก็มี”

แผนเจาะบ้านใหญ่ ชิงนายกเล็ก “เพื่อไทย” ขายไม่ออก

ศึกชิงนายกเล็ก โดยเฉพาะเทศบาลนครทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาชน ก็สัประยุทธ์กันสุดฤทธิ์ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น และอีกหลายภูมิภาค โดยอาศัย “บ้านใหญ่” เป็นหลัก

รศ.ดร.โอฬาร บอกว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไปไม่ได้ เนื่องจากไม่มีผลงาน ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องกลับไปใช้บริการนักการเมืองบ้านใหญ่ ที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ โดยมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานพรรคกล้าธรรม เข้าไปเจาะกลุ่มบ้านใหญ่

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ถือว่าน่าจับตา เนื่องจากบุคลิกเฉพาะของ ร.อ.ธรรมนัส และกลุ่มบ้านใหญ่มีลักษณะคล้ายกัน และพูดคุยภาษาเดียวกัน ใจถึง พึ่งได้ เขาจึงใช้วิธีเจาะเข้าไปในกลุ่มเกษตรกรในฐานะที่คุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับพื้นที่เกษตรกร ในจังหวัดภาคตะวันออก เขต จ.ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะเห็นได้ชัดว่า ขณะนี้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสเข้าไปแล้ว ด้วยการผนึกกำลังกับบ้านใหญ่ คือ เขามองเกมยาวทางการเมือง เจาะตลาดถูก คือ ไม่เจาะตลาดในเมือง และชนชั้นกลาง แต่เจาะตลาดเครือข่ายบ้านใหญ่ในพื้นที่เกษตรกรรม สไตล์คนใจถึง ซึ่งน่ากลัวมากในการเดินเกมการเมืองแบบนี้

“ต้องยอมรับว่า ภาพของพรรคเพื่อไทยเองก็ขายไม่ได้ในบางจังหวัด จึงถือเป็นความฉลาดของพรรคเพื่อไทย ที่ให้ ร.อ.ธรรมนัส เล่นเกม 2 หน้า คือ หากพรรคเพื่อไทยพลาด เขาก็อยู่ได้ แต่ไม่พลาดก็จะมีบทบาทสูงมาก ซึ่งดีกว่าที่จะไปรวมกับพรรคเพื่อไทย เพราะขณะนี้สถานการณ์ตอนนี้เพื่อไทยก็แย่ น่าจับตาดูว่า การชิงเก้าอี้นายกเล็กครั้งนี้ ใครจะเข้าวินมากกว่ากัน” รศ.ดร.โอฬาร ทิ้งท้าย

อ่านข่าว :

แข่งขันดุเดือด 2 ผู้สมัครเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์

สมรภูมิ "ลำปาง" จับตา 3 ตัวเต็งชิงเก้าอี้นายกเล็ก

กกต.เปิดแจ้งเบาะแสทุจริต "เลือกตั้งเทศบาล" รางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท

จับตาสนามเลือกตั้งเทศบาลเมืองป่าตอง ภูเก็ต บ้านใหญ่สมัคร 3 ทีม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง