ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทย 1ใน 25 "ตลาดเกิดใหม่" น่าลงทุน คลังชี้ไทย-USA สัมพันธ์ปึ้ก

เศรษฐกิจ
20 พ.ค. 68
17:06
122
Logo Thai PBS
ไทย 1ใน 25 "ตลาดเกิดใหม่" น่าลงทุน คลังชี้ไทย-USA สัมพันธ์ปึ้ก
อ่านให้ฟัง
14:08อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมว.คลัง เผยไทยติด 1 ใน 25 ปท. ตลาดเกิดใหม่น่าลงทุน ย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯยังแน่นแฟ้น รัฐบาลไทยให้ความสำคัญพร้อมร่วมมือเจรจา ช่วยสหรัฐฯลดขาดดุลการค้า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ชี้โอกาสอุตสาหกรรมใหม่ยังเปิดรับ

วันนี้ ( 20 พ.ค.2568) นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Thailand – U.S. Trade and Investment Summit 2025 ว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้รับการเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างเป็นพิเศษจากสนธิสัญญาฉบับหนึ่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 1966 หรือกว่า 50-60 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคพลังงานของสหรัฐฯ ได้เข้ามามีบทบาทเป็นพันธมิตรสำคัญของไทย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยพึ่งพาทรัพยากรด้านพลังงานในประเทศได้ถึง 100%

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในงาน Thailand – U.S. Trade and Investment Summit 2025

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในงาน Thailand – U.S. Trade and Investment Summit 2025

นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในงาน Thailand – U.S. Trade and Investment Summit 2025

แต่ในปัจจุบัน ความสามารถในการพึ่งพาตนเองลดลงเหลือเพียง 40% เท่านั้น อีก 60% เราจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใหม่ในด้านการพัฒนาและการลงทุน ยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งในฝั่งตะวันตกและตอนใต้ โดยเฉพาะในทะเลลึก ที่ในอดีตอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการสำรวจหรือพัฒนา แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบัน เราเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้อาจมีศักยภาพมากพอ ๆ กับพื้นที่อ่าวไทย

โอกาสยังเปิดอยู่ และเราควรนั่งลงหารือกันอย่างจริงจังเพื่อเปิดประตูสู่การพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้เชื่อว่าโอกาสนี้กำลังจะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ และบุคลากรหรือผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็มีข้อมูลเชิงลึกในประเด็นนี้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือ และสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถผลักดันโอกาสทางการค้า การลงทุน และการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และประชาชนของทั้งสองประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

“ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม พร้อมเร่งผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความมั่งคั่ง สะดวกต่อการทำธุรกิจ และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเร่งรัดกระบวนการอนุมัติด้านต่าง ๆ (EOT) ผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง ดำเนินการเปลี่ยนผ่านบริการภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล และผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมเปิดรับนักลงทุน เป็นประเทศที่ยืดหยุ่น และพร้อมเป็นจุดหมายหลักของการทำธุรกิจและการเชื่อมโยงสู่ตลาดในภูมิภาค”

รมว.คลังกล่าวอีกว่า ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 9–10 ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดใน 25 อันดับแรกของโลกในปีนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีและโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งในปีนี้ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ อันดับ 10 ในกลุ่ม 25 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนมากที่สุด จากดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Confidence Index 2025)

บริษัท Kearney จากแบบสำรวจเดียวกัน ยังระบุว่า ไทยอยู่ในอันดับ 5 ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขอขอบคุณนักลงทุนจากสหรัฐฯ อย่างจริงใจ ที่ให้ความไว้วางใจประเทศไทยมาโดยตลอดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างไทย–สหรัฐฯ ถือเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ ในปัจจุบัน การลงทุนของบริษัทไทยในสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมมากกว่า 20 อุตสาหกรรม

ขอเชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมกันสำรวจโอกาสการลงทุนแบบสองทาง (Two-way Investment) ให้มากยิ่งขึ้นแผนการต่าง ๆ ของเราจะเปิดโอกาสที่กว้างขึ้น พร้อมส่งเสริมความยั่งยืนในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคพลังงาน ผมคาดหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความร่วมมือและพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในระยะยาวขณะนี้ไทยกำลังดำเนินการในกรอบความร่วมมือที่มีเป้าหมายเพื่อ ลดความไม่สมดุลทางการค้า และเสริมสร้างความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว

ไทยยื่นข้อเสนอที่มีรายละเอียดชัดเจนที่จะเจรจาลดภาษีกับสหรัฐฯถึงแผนส่งออกซึ่งอาจช่วยลด ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ได้ประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแม้ว่าจะยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่อง "บุคลากรแลกเปลี่ยน" (Reciprocal Talent) อย่างละเอียด แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นนี้ และถือเป็นวาระสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยในฐานะตัวแทนภาคเอกชนหลัก ได้ร่วมมือกับภาครัฐภายใต้แนวคิด Team Thailand Plus อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายเครือข่าย และส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

และความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งปีนี้เป็นวาระครบรอบ 192 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศถือเป็นรากฐานของความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมาจนถึงปัจจุบันโดยสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย ปี 2567 มูลค่าการค้ารวมระหว่างทั้งสองประเทศสูงถึง 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ รวมถึงรัฐบาลทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาครั้งแรกในปี 2561 ภายใต้หัวข้อ "เศรษฐกิจดิจิทัลใหม่: สร้างโอกาสทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ" เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การลงทุน และโอกาสทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญให้ภาคเอกชนของทั้งไทยและสหรัฐฯ รวมถึงผู้แทนจากภาคธุรกิจสำคัญ ที่สะท้อนแนวโน้มระดับโลก ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมอง เพื่อหารือในประเด็นสำคัญ และร่วมกันเสนอแนวนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และสามารถขยายเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างไทยและสหรัฐฯ ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

“เราทุกคนกำลังเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การเข้าใจและรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น และงานในวันนี้จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการทบทวนว่า เราอยู่ตรงจุดใดในความร่วมมือนี้”

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย  กล่าวในงาน Thailand–U.S. Trade and Investment Summit 2025 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง หอการค้าอเมริกันในประเทศไทยหอการค้าไทย  และหอการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา ( USCC ) ว่า วันนี้ เมื่อโลกเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญคือไม่เพียงแค่มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แห่งความร่วมมือเท่านั้น แต่ต้องร่วมกัน “ออกแบบอนาคต” ที่จะก้าวไปด้วยกัน พวกเรากำลังพบกันในช่วงเวลาที่ระเบียบโลกเผชิญกับความตึงเครียดอย่างหนัก ระบบระหว่างประเทศที่เคยช่วยกันสร้าง—อิงกับการค้าเสรี พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ และความร่วมมือพหุภาคี—กำลังถูกทดสอบด้วยความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงกำหนดทิศทางของกระแสเศรษฐกิจโลก

ในขณะที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ยูเครน และเมียนมา ยังคงดำเนินต่อ เทคโนโลยีใหม่อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังขยายขอบเขตแห่งความเป็นไปได้ พร้อมตั้งคำถามด้านจริยธรรมและภูมิรัฐศาสตร์ ในบริบทเช่นนี้ ประเทศไทยซึ่งมีทำเลเชิงยุทธศาสตร์ มีความคล่องตัวทางการทูต และเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ สามารถทำหน้าที่ “ไม่ใช่แค่ผู้สังเกตการณ์” แต่เป็น “ผู้สร้างสะพาน” ที่เชื่อมโยงและสร้างเสถียรภาพในโลกที่ไม่แน่นอนนี้

สำหรับโอกาสจากความร่วมมือไทย–สหรัฐฯสรุป 4 ด้านหลักที่ ควรขยายความร่วมมือร่วมกัน คือ 1. พลังงานสีเขียวและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยไทยตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องอาศัยการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น EV, Smart Grid และเทคโนโลยีสะอาด สหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาด เรายินดีต้อนรับสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ในฐานะ “นักลงทุน” แต่ในฐานะ “หุ้นส่วน” ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การฝึกอบรม และโมเดลธุรกิจยั่งยืน

 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย

2. ความมั่นคงด้านอาหารและสุขภาพ แม้ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารและบริการสุขภาพรายใหญ่ เรามีศักยภาพในด้านเกษตรอินทรีย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปจนถึงไบโอเทค ขณะที่สหรัฐฯ มีความเชี่ยวชาญด้าน R\D นวัตกรรม และเงินทุน ลองจินตนาการถึงโลกที่ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโภชนาการ สุขภาพ และการดูแลของเอเชีย โดยร่วมพัฒนากับสหรัฐฯ ทั้งในด้านมาตรฐานและวิทยาศาสตร์

3. การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและ AI ความสามารถในการแข่งขันในอนาคตอยู่ที่เศรษฐกิจดิจิทัล ไทยกำลังผลักดันนโยบายด้าน AI ในภาคการเงิน อุตสาหกรรม ระบบงาน ไปจนถึงจริยธรรม ความปลอดภัยไซเบอร์ และการค้าดิจิทัล แต่เราจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ หากไม่มี “ความร่วมมือระดับโลก” และ “ภาวะผู้นำที่รับผิดชอบ” ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้

และ4. การแลกเปลี่ยนบุคลากรและการศึกษา ความสัมพันธ์ของเราควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “คน” ไม่ใช่แค่ “การค้า” ประเทศไทยยินดีขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และโครงการผู้นำของสหรัฐฯ

เราต้องลงทุนกับคนรุ่นใหม่ทั้งไทยและอเมริกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์ของเรายืนหยัดและพร้อมรับอนาคต ต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบริษัทสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้คนในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว

การรื้อสร้างความร่วมมือสำหรับโลกยุคใหม่ ให้เป็นหุ้นส่วนระยะยาว ไม่ได้หมายถึงแค่ “อดีต” แต่หมายถึง “จุดมุ่งหมายร่วมกัน” ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย บริษัทอเมริกันไม่ได้แค่นำเงินลงทุนและงานมาให้ แต่ยังนำแนวคิด มาตรฐาน และจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ ที่ช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย ในวันนี้ เมื่ออำนาจโลกกำลังเปลี่ยนมือ และโมเดลเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เราต้อง “รื้อคิด” ความร่วมมือครั้งนี้—ไม่ใช่แค่คงที่ แต่ต้อง พลิกเกมไม่ใช่แค่ทำธุรกิจ แต่ต้อง เปลี่ยนระบบ

“ไม่ว่าจะในเวทีการทูตหรือธุรกิจ ความไว้วางใจไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนแต่มันถูกสร้างขึ้นจากเวลา ความเคารพซึ่งกันและกัน และการพูดคุยที่จริงใจ ผมเชื่อว่า ไทยและสหรัฐฯ กำลังยืนอยู่หน้าบทใหม่ของความสัมพันธ์บทที่ต่อยอดจากอดีตที่น่าภาคภูมิใจ แต่ไม่ยึดติดกับอดีตนั้นและพร้อมเผชิญความท้าทายของวันนี้เพื่อคว้าโอกาสในวันพรุ่งนี้”

 

 

อ่านข่าว:

 อุตฯรถยนต์ไทย "โอกาส-ท้าทาย" สนค.ชี้ไทยต้องปรับตัวรองรับตลาดโลก

สภาพัฒน์ฯหั่นจีดีพีไทยปี68 เหลือ1.8% รับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

“อาเซียน” ย้ำจุดยืนบนเวทีเอเปค หนุนค้าเสรี รับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง