ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไม่ใช่แค่หนึ่ง นักวิจัยขึ้น-ลง 15 ครั้ง สำรวจพบ "เฟิร์นชนิดใหม่" ภูกระดึง

Logo Thai PBS
ไม่ใช่แค่หนึ่ง นักวิจัยขึ้น-ลง 15 ครั้ง สำรวจพบ "เฟิร์นชนิดใหม่" ภูกระดึง
เสน่ห์ของภูกระดึง คือ ต้องเหนื่อยเดินขึ้น เมื่อถึงยอดภูแล้วหายเหนื่อย เจอวิวและธรรมชาติที่สวยงาม

ไม่ต่ำกว่า 15 ครั้งของการเดินขึ้น-ลงภูกระดึง ตลอดช่วงเวลา 2 ปี เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ เรื่องความหลากหลายของเทอริโดไฟต์ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เมื่อปี 2559

"ประภาพร จัดประจง" ที่ปัจจุบันทำหน้าที่เจ้าหน้าที่บริการการศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าความรู้สึกของการเดินขึ้น-ลงภูกระดึง แต่ละครั้งเธอใช้เวลาสำรวจพรรณไม้ ประมาณ 1 สัปดาห์

สนใจศึกษาวิจัยบนภูกระดึง ด้วยความท้าทายของพื้นที่ และเป็นที่ที่คนยังไม่ได้เข้าไปรบกวนมากนัก

ด้วยภูมิประเทศและเส้นทางเดินที่ไม่ง่ายนัก เป็นความท้าทายของนักวิจัยให้สำรวจพรรณไม้ เริ่มตั้งแต่ตีนภู เส้นทางท่องเที่ยวด้านบน รวมทั้งบริเวณป่าปิด ทั้งในช่วงที่เปิดและปิดการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึง

การทำงานจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำทีมเข้าไปเก็บข้อมูล "เฟิร์นเทอริโดไฟต์" ทั้งถ่ายภาพต้นในธรรมชาติ เก็บตัวอย่าง 1-2 ใบ และหาชนิดพันธุ์ในแล็บ แต่อาจทำงานยากในช่วงที่ปิดการท่องเที่ยว เพราะต้องแบกน้ำ อาหารขึ้นเดินขึ้นภูกระดึงระยะทาง 5.5 กิโลเมตร ส่วนการสำรวจด้านบนบางครั้งก็มีจังหวะต้องวิ่งหนีช้างป่า

ทั้งนี้ พบกระจายตัวของเฟิร์นแต่ละชนิด บางชนิดยังไม่เคยมีชื่อมาก่อน ประภาพร บอกว่า เธอดีใจที่ได้ทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้ เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีรุ่นน้องบางคนถือเล่มขึ้นไปภูกระดึง เพื่อตามดูพรรณไม้ในงานวิจัย ซึ่งในอนาคตหากจะมีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ก็อยากให้มีการสำรวจและศึกษาความหลากหลายของทั้งพืช และสัตว์ป่าอย่างละเอียดรอบคอบ

ขณะที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก อ้างอิงงานวิจัย "ความหลากหลายของเทอริโดไฟต์ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย" ของประภาพร นักวิจัยจากภาควิชาพฤกษศาตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้ศึกษาความหลากหลายของเทอริโดไฟต์ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย โดยเก็บตัวอย่างพรรณไม้ตามแนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ พบเทอริโดไฟต์หลากหลายชนิด และจากการศึกษาในครั้งนี้ ยังพบพรรณไม้ที่มีสถานภาพเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) ในประเทศไทย อีกทั้งพบชนิดที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในจังหวัดเลย รวมถึงพืชที่คาดว่าจะเป็นเฟิร์น ชนิดใหม่ของไทยหรือของโลก

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ใน จ.เลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเล 260 ถึง 1,316 เมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัดคล้ายรูปหัวใจ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่นี้ อีกทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า และมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเภท คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขาต่ำ ป่าละเมาะเขาต่ำ และป่าไม้ก่อ-ไม้สน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเทอริโดไฟต์มากแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เทอริโดไฟต์ หรือ Pteridophyte คือ กลุ่มพืชมีท่อลำเลียง แต่ไม่มีเมล็ด มีราก ลำต้น และใบที่แท้จริง มีท่อลำเลียงน้ำและแร่ธาตุ แบ่งออกเป็น 2 ไฟลัม ประกอบด้วย ไลโคไฟตา (Lycophyta) เช่น สามร้อยยอดและหางสิงห์ ที่สร้างสปอร์ซึ่งมีขนาดเดียวกันทั้งหมด รวมถึงตีนตุ๊กแกกับกระเทียมน้ำ ที่มีการสร้างสปอร์ขนาดที่แตกต่างกัน และไฟลัมเทอโรไฟตา (Pterphyta หรือ Monilophyta) เช่น หญ้าถอดปล้อง หวายทะนอย รวมถึงกลุ่มของเฟิร์น

จากการสำรวจเก็บตัวอย่างเทอริโดไฟต์ 288 ตัวอย่าง พบเทอริโดไฟต์ จำนวน 125 ชนิด แบ่งเป็น ไฟลัมไลโคไฟตา จำนวน 14 ชนิด และเทอโรไฟตา จำนวน 111 ชนิด และจากการศึกษาพบว่าสภาพพื้นที่ที่มีความชื้นสูงและมีอุณหภูมิต่ำ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเทอริโดไฟต์ ส่งผลให้ถิ่นอาศัยลักษณะแบบนี้สามารถพบจำนวนชนิดของเทอริโอไฟต์ได้มากขึ้น

การศึกษานี้ยังพบพืชที่รายงานเป็นพืชถิ่นเดียวของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Asplenium siamense, Dryopteris rheophila และ Elaphoglossum dumrongii พืชทุกชนิดนี้ ขึ้นอาศัยในบริเวณที่จำกัดและพบได้ตามแนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทำลายได้ง่ายโดยนักท่องเที่ยว จึงเป็นข้อควรระวังและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการดูแลและอนุรักษ์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพรรณไม้อื่น ๆ และระบบนิเวศโดยรอบ

อีกทั้งยังพบพืชชนิดที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในจังหวัดเลย เช่น กูดเปี๊อย Athyrium cumingianum, เฟิร์นแผง Selaginella involvens และ เฟิร์นแม่ลูกอ่อน Tectaria simonsii เป็นต้น

รวมถึงการศึกษาครั้งนี้ ยังพบเฟิร์นที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ด้วยเอกสารทางพฤกษอนุกรมวิธานที่ใช้ในปัจจุบัน จำนวน 3 ชนิดได้แก่ Selaginella sp., Asplenium sp. และ Oleandra sp. ที่คาดว่าน่าจะเป็นพืชชนิดใหม่ของไทยหรืออาจเป็นชนิดใหม่ของโลก จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ปัจจุบันความหลากหลายของเทอลิโดไฟต์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากไฟป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า หรือการท่องเที่ยว ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เทอริโดไฟต์บางชนิดสูญหายไปจากพื้นที่ จึงควรมีการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ รวมถึงชุมชนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของตนเอง เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนได้

อ่านข่าว : "สรวงศ์" เคาะไทม์ไลน์ 2 ปี ปักหมุดสร้าง "กระเช้าภูกระดึง" 

นักอนุรักษ์ ตั้งคำถามความคุ้มค่า สร้าง "กระเช้าภูกระดึง" 

“กระเช้าภูกระดึง” ไทม์ไลน์ 43 ปี ยังไม่มีข้อสรุป “สร้าง-ไม่สร้าง” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง