ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กำลังซื้อหด-หนี้เสียพุ่ง ฉุดยอดผลิตรถเม.ย.ต่ำสุดรอบ 44 เดือน

เศรษฐกิจ
22 พ.ค. 68
16:56
124
Logo Thai PBS
กำลังซื้อหด-หนี้เสียพุ่ง ฉุดยอดผลิตรถเม.ย.ต่ำสุดรอบ 44 เดือน
ส.อ.ท. เผย กำลังซื้อหด-หนี้เสียพุ่ง ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ฉุดยอดผลิตรถยนต์เม.ย.68 ต่ำสุดในรอบ 44 เดือน จี้รัฐอัดงบฟื้นกำลังซื้อ พยุงอุตสาหกรรมยานยนต์

วันนี้ ( 22 พ.ค.2568) นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดเดือนเม.ย.2568 รวม 104,250 คัน ลดลงจากเดือนมี.ค.2568 ที่ 19.75% และลดลงจากเดือนเม.ย.2567 ที่ 0.40% ต่ำสุดในรอบ 44 เดือน แม้จะผลิตรถยนต์นั่ง และรถ SUV ไฟฟ้าทั้ง BEV PHEV และ HEV ในประเทศมากขึ้น 639.75% 319.11% และ 35.31% ตามลำดับ แต่การผลิตรถยนต์นั่งสันดาปภายในลดลง 33.60% เพราะผลิตรถยนต์นั่งส่งออกลดลงถึง 36.93% เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์บางรุ่น

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ส่วนรถกระบะยังคงผลิตลดลง 3.06% จากการขายในประเทศลดลง 33.16% ตามยอดขายรถกระบะในประเทศที่ยังคงลดลง 22.25% จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนม.ค. - เม.ย.2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 456,749 คัน ลดลงจากเดือนม.ค. - เม.ย.2567 ที่ 11.96%

เดือนนี้เริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเดือนแรกประวิติศาสตร์ไทย จำนวน 660 คัน ส่วนรถยนต์สำเร็จรูป ส่งออกได้ 65,730 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 18.77% และลดลงจากเดือนเม.ย.2567 ที่ 6.31% เพราะมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งบางรุ่น การเข้มงวดในเรื่องเทคโนโลยีช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัย และการปล่อยคาร์บอนในบางประเทศคู่ค้า

ขณะที่ รถยนต์ HEV จึงส่งออกเพิ่มขึ้น 87.96% แต่จำนวนไม่มาก จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ คงต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศไทย และประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยกับสหรัฐ ต่อไป

ส่วนหนี้ NPL ยังคงเพิ่มขึ้น โดยยอดสินเชื่อลดลงจากการปฏิเสธสินเชื่อกว่า 50% เนื่องจาก GDP และดัชนีภาคอุตสาหกรรมยังคงติดลบ จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อลดลง สวนทางกับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยต้องระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น หากรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยเกิดการจ้างงาน หนุนกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SME ที่นิยมซื้อรถกระบะ

ยอดขายรถกระบะยังเป็นปัจจัยหลักให้กำลังการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกลางปีนี้อาจจะมีการปรับเป้ากำลังการผลิตใหม่จึงต้องดูว่าโครงการ "กระบะพี่มีคลังค้ำ" จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน จากที่คาดว่ายอดผลิตรวมทั้งปีจะอยู่ที่ 1.5 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดขายในประเทศราว 6 แสนคัน จากปัจจัยรถอีวีที่ราคาลดลง

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเม.ย.2568 มี 47,193 คัน ลดลงจากเดือนมี.ค.2568 ที่ 15.42% ในขณะที่รถกระบะ และรถ PPV ลดลง 21.7% และ 20.5 ตามลำดับ

การเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากหนี้ครัวเรือนสูง และเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอเพราะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงลดลง 3.83% การลงทุนภาคเอกชนไตรมาสหนึ่งปีนี้ลดลง และจากค่าครองชีพที่ยังสูง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่ภาคอุตสาหกรรม และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค. - เม.ย.2568 รถยนต์มียอดขาย 200,386 คัน ลดลงจากปี 2567 ในระยะเวลาเดียวกัน 4.80% แยกเป็นรถยนต์นั่ง และรถยนต์นั่งตรวจการณ์ มีจำนวน 127,188 คันเท่ากับ 63.47% ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 0.38%

ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกเดือนเม.ย.ผลิตได้ 67,085 คัน เท่ากับ 64.35% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเม.ย.2567 ที่ 6.73% ส่วนเดือนม.ค.- เม.ย.68 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 303,881 คัน เท่ากับ 66.53% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2567 ระยะเวลาเดียวกัน 12.07%

ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนเม.ย.ผลิตได้ 37,165 คัน เท่ากับ 35.65% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย.2567 ที่ 13.52 และเดือนม.ค. - เม.ย. 2568 ผลิตได้ 152,868 คัน เท่ากับ 33.47% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนม.ค. – เม.ย.2567 ที่ 11.72%

หากเศรษฐกิจไทยยังโตได้ในอัตราต่ำ จาก สศช. ลดเป้าลง GDP เหลือ 1.8% ซึ่งส่งผลการผลิตชิ้นส่วนไทยด้วย อีกทั้ง หากคู่ค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐ ลดลง การสั่งซื้อชิ้นส่วนไทยอาจลดลงด้วย รวมถึงภาษีที่อาจต้องเสีย 36% ซึ่งต้องรอดูว่าจะรัฐบาลเจรจาอย่างไร และประเทศคู่แข่งที่ส่งชิ้นส่วนเราจะเจรจาลดภาษีได้เท่าไร ถ้าน้อยกว่าก็จะดีกว่า

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า การลงทุนภาครัฐยังเติบโต แต่เอกชนยังติดลบ จึงต้องดูตัวเลข FDI ว่าจะเข้ามาเท่าไร จากยอดอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท อาจต้องรอดูการลงทุนที่แท้จริงว่าจะเท่าไร ซึ่ง BOI ระบุว่าการลงทุนปกติจะใช้เวลา 3 ปีหลังจากได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน จึงต้องดูประเทศอื่นๆ ว่าจะเสียภาษีสหรัฐเท่าไร จึงต้องรอให้ครบกำหนด 90 วัน ซึ่งต้องประเมินอีกครั้ง อีกส่วนสำคัญคือ ภาคการนักท่องเที่ยวที่ยังเป็นความหวังซึ่งนักท่องเที่ยวจีนลดลง ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากขึ้น

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่แจกเงิน 1 หมื่นบาทแล้ว สิ่งสำคัญต้องสนับสนุนการสร้างงาน จึงต้องดูการเจรจากับสหรัฐ เพราะส่งออกไทยมีสัดส่วนสำคัญถึง 56% ของ GDP ถือว่าสำคัญมากที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเราโตหรือไม่โต หากอยู่ในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งก็จะขาดเม็ดลงเงินทุน รายได้ก็จะน้อยลง อีกทั้ง ภาครัฐยังมีหนี้สาธารณะสูง จะมีความสามารถในการกู้เงินมาเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน

อ่านข่าว:

 อุตฯรถยนต์ไทย "โอกาส-ท้าทาย" สนค.ชี้ไทยต้องปรับตัวรองรับตลาดโลก

รัฐบาลเลื่อนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เฟส 3 ไม่มีกำหนด

สภาพัฒน์ฯหั่นจีดีพีไทยปี68 เหลือ1.8% รับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง