วันนี้ (3 ก.ค.2568) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา ทีมนักดาราศาสตร์ภายในโครงการ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ได้ค้นพบวัตถุที่คล้ายดาวหาง C/2025 N1 (ATLAS) ต่อมา การยืนยันวงโคจรของวัตถุนี้ ทำให้พบว่าวัตถุนี้มีต้นกำเนิดมาจากนอกระบบสุริยะ จึงนับเป็นวัตถุนอกระบสุริยะ (Interstellar Object) ดวงที่ 3 เท่าที่เคยมีการค้นพบมา จึงได้ชื่อใหม่เป็น 3I/ATLAS
วัตถุที่เราค้นพบในระบบสุริยะส่วนมากนั้น เป็นวัตถุที่มีวงโคจรและต้นกำเนิดอยู่ภายในระบบสุริยะเอง แม้กระทั่งดาวหางคาบยาวที่อาจจะมีวงโคจรที่ไกลออกไปมาก ถึงขอบของเมฆออร์ต หรืออาจจะไม่วกกลับมาอีก ต่างก็ล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดจากการยึดอยู่อย่างหลวมๆ ภายใต้แรงโน้มถ่วงของระบบสุริยะ
จนกระทั่งในปี 2017 จึงได้มีการค้นพบ "Oumuamua" 1I/2017 U1 ซึ่งเป็นวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่ค้นพบว่ามีต้นกำเนิดมาจากระบบสุริยะอื่นนอกไปจากระบบสุริยะของเรา ขนาด รูปร่าง และต้นกำเนิดอันแปลกประหลาดของมันทำให้กลายเป็นที่สนใจในวงการอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันก็ยังมีปริศนาอีกมากเกี่ยวกับ Oumuamua ที่เราคงจะไม่สามารถยืนยันได้ ต่อมาในปี 2019 จึงได้มีการค้นพบวัตถุจำพวก Interstellar Object ดวงที่สอง มีชื่อว่า 2I/Borysov

สำหรับ 3I/ATLAS นี้ ถูกค้นพบโดยโครงการ ATLAS ไปในวันที่ 1 กรกฎาคม และการสำรวจจากฐานข้อมูลย้อนหลังทำให้พบว่ากล้องโทรทรรศน์อื่นในโครงการ ATLAS และ Zwicky Transient Facility ได้มีการบันทึกภาพวัตถุนี้ย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน จากการคำนวณวงโคจรจึงทำให้สามารถยืนยันได้ว่าวัตถุนี้นั้นมีต้นกำเนิดที่มาจากนอกระบบสุริยะ นี่จึงนับเป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะดวงที่สามเท่าที่เคยมีการค้นพบมาในประวัติศาสตร์ จึงทำให้มีการเปลี่ยนชื่อจาก C/2025 N1 (ATLAS) ซึ่งเป็นการระบุวัตถุประเภทดาวหาง กลายไปเป็น 3I/ATLAS โดยตัวย่อ "I" นี้ มาจาก "Interstellar" ซึ่งเป็นการระบุต้นกำเนิดนอกระบบสุริยะของมันนั่นเอง
ปัจจุบันนี้ 3I/ATLAS อยู่ห่างออกไปจากโลกของเราถึง 670 ล้านกม. หรือคิดเป็น 4.5 หน่วยดาราศาสตร์ โดยวัตถุนี้จะไม่มีอันตรายต่อโลกแต่อย่างใด และจะเข้ามาใกล้ระบบสุริยะที่สุดที่ 1.4 หน่วยดาราศาสตร์ หรือใกล้กว่าวงโคจรของดาวอังคารเพียงเล็กน้อย ก่อนที่จะหลุดออกไปนอกระบบสุริยะอีกโดยไม่มีวันกลับมา
การมาเยือนของวัตถุนอกระบบสุริยะเหล่านี้นั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่สามารถสังเกตได้ง่าย และเราเพิ่งจะมาค้นพบวัตถุเหล่านี้ในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมานี่เอง อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าเมื่อเทคโนโลยีและรูปแบบการสำรวจของมนุษย์เราก้าวหน้ามากขึ้น การค้นพบวัตถุเหล่านี้ก็จะสามารถเกิดได้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะกล้องโทรทรรศน์ Vera C. Rubin Observatory ที่เพิ่งจะเปิดเผยภาพแรกไปเมื่อเดือนที่แล้ว อาจจะทำให้การค้นพบวัตถุใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกในอัตราที่ไม่เคยพบมาก่อน
และเราอาจจะค้นพบว่าการมาเยือนของวัตถุนอกระบบสุริยะเหล่านี้นั้นอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราเคยคาดการณ์เอาไว้ และวันหนึ่ง การสำรวจเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การค้นพบใหม่ๆ เกี่ยวกับโลกอื่นนอกเหนือไปจากระบบสุริยะของเราที่เรารู้จัก หรืออาจจะนำมาซึ่งการค้นพบที่เพิ่มความเข้าใจที่เรามีเกี่ยวกับระบบสุริยะของเราเอง แต่แน่นอนว่าการค้นพบที่สำคัญที่สุด ก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราแม้กระทั่งในทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่ยังคงรอคอยการค้นพบของเราอยู่ในอนาคตที่จะถึงนี้
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม:
[1] https://science.nasa.gov/.../nasa-discovers-interstellar.../
แท็กที่เกี่ยวข้อง: