วันนี้ (8 ก.ค.2568) หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศภาษีนำเข้าสินค้าอัตราใหม่ 14 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2568
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงภาษีอัตราใหม่ 36% เป็นอัตราเดิมที่สหรัฐฯ ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 นั่นหมายถึงภาษีจุดสูงสุดที่ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรสำหรับผลิตภัณฑ์ไทยทั้งหมดที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าไทยบรรลุผลการเจรจาจะทำให้ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 36%
อ่านข่าว : ทรัมป์ส่งหนังสือถึง "ไทย" ยืนยันเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36%
ภาษี 36% จะกระทบกับธุรกิจส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก ขณะที่นักธุรกิจส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบที่รองลงมา ไม่ได้เป็นผลโดยตรง
และประเด็นที่สำคัญที่จะทำให้ภาษีลดลงต่ำกว่า 36% ข้อเสนอที่จะไปแลก การเปิดตลาดของฝั่งไทย ซึ่งการเปิดตลาดเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในไทย ซึ่งควรจะทำเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก
ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่จะทำเพื่อลดภาษีให้ต่ำกว่า 36% ต้องแลกกับการเปิดตลาดและกระทบกับธุรกิจในประเทศ ซึ่งเป็นเหมือน 2 อย่างที่ไม่ได้พร้อมกัน
นายนณริฏ ยังกล่าวถึงสิ่งที่น่ากังวลหากต้องการลดภาษีให้ต่ำกว่า 36% มากที่สุด หรือให้ต่ำกว่าเวียดนามที่ 20% ซึ่งเท่ากับว่าต้องแลกกับการเปิดเสรีมากขึ้น และจะยิ่งกระทบกับผู้ผลิตในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ภาคเกษตร รวมทั้งธุรกิจภาคบริการ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าไทยต้องบริหารจัดการให้ดี
แต่สิ่งที่กังวลใจ คือยิ่งลดมาก สิ่งที่นำไปแลกคืออะไร
อ่านข่าว : เปิด 14 ประเทศแรก "ทรัมป์" ประกาศขึ้นภาษี มีผล 1 ส.ค.นี้
สำหรับ 14 ประเทศ ที่สหรัฐฯ ส่งจดหมายแจ้งอัตราภาษีใหม่ เกินครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นสัญญาณในการบีบกลุ่มอาเซียนหรือไม่นั้น นายนณริฏ ระบุว่าย้อนกลับไปดูว่ามีประเทศที่เกินดุลสหรัฐฯ เป็นกลุ่มประเทศอาเซียน
ข้อสังเกตประเทศไทยไม่ติดท็อปเทน ซึ่งไทยไม่ได้เกินดุลกับสหรัฐฯ มาก แต่ประเทศไทยถูกเรียกเก็บในปริมาณที่สูง มองว่าเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยรีบไปเจรจาต่อรองให้ได้ภายในเงื่อนไขเวลา 1 ส.ค.นี้ ภายใต้ข้อเสนอให้ได้ผลประโยชน์กับสหรัฐฯ มากที่สุด
ส่วนเรื่องเงื่อนเวลาถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะตัดสินใจอะไรภายใต้เวลาที่เร่งด่วน เพราะถ้าเกิดเร่งเกินไป ธุรกิจส่งออกได้ประโยชน์ ธุรกิจที่ผลิตในประเทศจะเสียประโยชน์เมื่อเจอสินค้าสหรัฐฯ เข้ามาตีตลาด
ทั้งนี้มองว่าหากไทยและสหรัฐฯ ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเจรจาได้ ภายใน 1 ส.ค.และสามารถเจรจาตกลงได้หลังจากนั้นก็สามารถที่จะเจรจาต่อรองเรื่องภาษีที่เสียไปก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งมองว่าก็เป็นทางออกหนึ่ง
ซึ่งถ้าทำได้เร็วก็ดี แต่ไม่อยากให้สูญเสียความมั่นคงความคิดที่รอบด้านในการยื่นข้อเสนอ ไม่ใช่ได้ดีลแล้ว ท้ายที่สุดเสียอะไรที่มากไป จนเศรษฐกิจเราจะย่ำแย่กว่า
นอกจากนี้ นายนณริฏ มองว่าไทยต้องกลับมาคิดว่าข้อแลกเปลี่ยนอะไรที่สามารถรับได้และไม่กระทบต่อความมั่นคง ไม่กระทบผู้ผลิตภายใน หรือกระทบแต่สามารถมีกลไกในการเยียวยา เพื่อที่จะให้เติบโตแข่งขันได้
อ่านข่าว :
"ทรัมป์" เพิ่มแรงกดดันโลกปิดดีลกำแพงภาษี