วันนี้ (24 ก.ค.2568) ในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ การสื่อสารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้กำลังคน การทหาร หรือการทูตอีกต่อไป แต่ "โซเชียลมีเดีย" ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่าง
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี ด้านวิชาการ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความกังวลว่า ในยามที่ผู้คนกำลังรู้สึกกังวล โกรธ หรือมีอารมณ์พลุ่งพล่าน เราไม่รู้เลยว่าใครเป็นผู้ทำคอนเทนต์ใด ๆ วนเวียนออกมาในโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถชักนำและลากผู้คนให้คล้อยตามเนื้อหาเหล่านั้นได้ง่าย ทำให้ผู้คนอาจกลายเป็น "เครื่องมือ" ในภาวะความขัดแย้ง
ผศ.ดร.สกุลศรี ย้ำว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ข้อมูลข่าวสารจะหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีทั้งของจริง ของไม่จริง มีการตกแต่ง เปลี่ยน หรือทำขึ้นมาใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปั่นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เพื่อใช้เป็นแรงผลักดันปฏิกิริยาและปฏิสัมพันธ์
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้อง ใจเย็น และ มีสติ อันดับแรก คือ ยังไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะรู้ว่าที่มาของสิ่งนั้นมาจากไหน
อ.สกุลศรี ได้ให้คำแนะนำที่สำคัญแก่ประชาชนในการรับมือกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากดังนี้
- มีสติก่อนเป็นอันดับแรก
- ยังไม่ต้องเชื่อในทันที จนกว่าจะทราบถึงที่มาของข้อมูลนั้น ๆ
- ตรวจสอบจากช่องทางที่เชื่อถือได้ เช่น สื่อมวลชนที่น่าเชื่อถือ หรือช่องทางของทางการที่เป็นบัญชีทางการของประเทศ
- อย่าเช็กแค่ช่องทางเดียว ควรตรวจสอบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง
- หากยังไม่แน่ใจที่มาที่ไป หรือยังไม่มีข้อมูลยืนยัน "ไม่จำเป็นก็ยังไม่ต้องแชร์" เนื่องจาก การแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจะยิ่งทำให้ข้อมูลที่บิดเบือน หรือข่าวปลอมกระจายตัวไปได้อย่างรวดเร็ว และทำให้การจัดการการรับรู้ของผู้คนในสังคมทำได้ยากขึ้น
มีการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่น กรณีข่าวที่กัมพูชากล่าวอ้างว่ามีการยิงเครื่องบิน F-16 ของไทยตก ซึ่งบางแหล่งข่าวอ้างว่าเป็นภาพที่สร้างด้วย AI หรือ เป็นภาพเก่าที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความเข้าใจผิด เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า คนทั่วไปเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าอันไหนเป็นภาพที่สร้างจาก AI หรืออันไหนเป็นข่าวปลอม
ผศ.ดร.สกุลศรี เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างด้วย AI หรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่ใช่ของจริง เราก็ต้องบอกสังคมได้ว่ามันไม่จริง และหากตรวจสอบข้อมูลแล้วยืนยันได้ว่าเป็นภาพที่ถูกทำขึ้นโดยวิธีใดก็ตามที่ "ไม่ใช่ความจริง" ก็ต้องสื่อสารให้ชัดเจน
นอกจากนี้ ผศ.ดร.สกุลศรี ยังกล่าวถึงความท้าทายของการรับรู้ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียว่า ข้อมูลมักจะกระจัดกระจาย และผู้คนไม่รู้ว่าควรเชื่อแหล่งใด บางครั้งเป็นข้อมูลเก่าที่ถูกนำมาวนซ้ำ ตัดต่อใหม่ หรือแม้แต่ภาพจริงที่ถูกนำมาใส่ความรุนแรงเพิ่มเข้าไป ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ข้อมูลเท็จและข่าวปลอมจะออกมาอีกมาก และจะกระจายไปทั่ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ผศ.ดร.สกุลศรี ได้แนะนำบทบาทของหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนว่า
- ภาครัฐควรพูดจากแหล่งเดียวและรวมศูนย์การสื่อสาร เพื่อป้องกันข้อมูลกระจัดกระจายและสร้างความสับสนในยามวิกฤต
- สื่อมวลชนควรเป็นที่พึ่งที่แท้จริงของประชาชน โดยควรใช้รูปแบบ "LIVE Blog" คือการอัปเดตข้อมูลที่หน้าเว็บไซต์เพียงหน้าเดียวอย่างต่อเนื่องในลักษณะรายงานสด เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลที่ถูกตรวจสอบแล้ว ได้อย่างแม่นยำ แทนที่จะเป็นการไลฟ์สดบนโซเชียลมีเดียที่ข้อมูลอาจกระจัดกระจายและขึ้นไม่พร้อมกัน
- สื่อควรทำให้ชัดเจนว่า ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบแล้วสามารถติดตามได้จากที่ไหน เช่น หากเป็นไทยพีบีเอส, Thai PBS Verify ก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่ามาตามที่ไทยพีบีเอสได้ ตรวจสอบข้อมูลและให้รายงานแบบไลฟ์รีพอร์ตที่มีข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว
- จำเป็นต้องมีผู้ที่ทำการตรวจสอบและบอกผู้คนได้ว่าข้อมูลใดไม่เป็นความจริง
ท้ายที่สุด ผศ.ดร.สกุลศรี ได้เรียกร้องให้คนในสังคมช่วยกัน "มอนิเตอร์ ช่วยกันเฝ้าระวัง และช่วยกันตรวจสอบ" เพื่อลดผลกระทบจากข้อมูลบิดเบือน
อ่านข่าวอื่น :
"ภูมิธรรม" ยันปกป้องอธิปไตย ยังไม่ประกาศภาวะสงคราม
กองทัพบกปฏิบัติการ "ยุทธบดินทร์" ตอบโต้เขมรทางบก-อากาศ