ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มท.เผยเหตุชายแดนไทย-กัมพูชา ปชช.ต้องอพยพกว่า 1 แสนคน

การเมือง
08:01
1,828
 มท.เผยเหตุชายแดนไทย-กัมพูชา ปชช.ต้องอพยพกว่า 1 แสนคน
อ่านให้ฟัง
07:52อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปลัด มท. เผยมีประชาชนต้องอพยพจากเหตุการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา มากกว่า 100,000 คนไปยังศูนย์พักพิง 295 แห่ง กำชับผู้ว่าฯ นายอำเภอ บูรณาการทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชน ย้ำเตือนห้ามกลับบ้านจนกว่าจะมีประกาศจากภาครัฐ

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2568 นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากการลักลอบยิงอาวุธของกัมพูชาเข้ามาล่วงล้ำอธิปไตยของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ที่พักอาศัยพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้รับผลกระทบ ทั้งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงต้องอพยพย้ายที่พักชั่วคราว 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง นำกำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุกภาคส่วน นำยานพาหนะของทุกหน่วยงานเร่งอพยพประชาชนเข้าไปยังพื้นที่ปลอดภัยห่างจากแนวการปะทะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งให้ดูแลด้านการใช้ชีวิตครอบคลุมปัจจัยความจำเป็นพื้นฐาน ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ห้องน้ำ และที่พัก ให้ถูกสุขลักษณะ โดยเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ข้อมูลเมื่อเวลา 22.30 น. วันที่ 24 ก.ค. ระบุมีประชาชนที่ได้ทำการอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 4 จังหวัด จำนวนรวม 100,672 คน ศูนย์พักพิง 295 แห่ง ได้แก่

  • สุรินทร์ 56,000 คน ศูนย์พักพิง 67 แห่ง
  • ศรีสะเกษ 17,196 คน ศูนย์พักพิง 58 แห่ง
  • บุรีรัมย์ 17,000 คน ศูนย์พักพิง 1 แห่ง
  • อุบลราชธานี 10,476 คน ศูนย์พักพิง 169 แห่ง

กระทรวงมหาดไทยยังได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดและอำเภอสร้างขวัญกำลังใจให้ ประชาชนควบคู่การบำรุงขวัญกำลังพลทั้งฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามแนวพิทักษ์พื้นที่ส่วนหลัง 

พร้อมทั้งร่วมกันเป็นกำลังใจให้กับบรรดาพี่น้องทหารหาญผู้ที่กำลังทำหน้าที่เป็นกำลังส่วนหน้าที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญในการปกป้องอธิปไตยของชาติ และสร้างความรับรู้เข้าใจให้ประชาชนในศูนย์พักพิงได้ทราบถึงสถานการณ์ รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยทรัพย์บริเวณหมู่บ้าน อาคารบ้านเรือน โดยกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งย้ำเตือน “ห้ามกลับไปยังพื้นที่หมู่บ้าน” จนกว่าทางภาครัฐจะประกาศให้สามารถกลับไปได้ตามปกติ

"ดีอี" ดูแลระบบสื่อสารพื้นที่ "อุบลฯ-ศรีสะเกษ-สุรินทร์-บุรีรัมย์"

ด้าน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ดูแลอำนวยความสะดวกด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคมให้กับกองกำลังทหารในพื้นที่ และติดตั้งจุดให้บริการ Free WiFi ในพื้นที่บริเวณศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อให้บริการแก่ประชาชน อย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการสื่อสาร

ขณะเดียวกัน จากการที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความไม่สงบเป็นจำนวนมาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti-Fake News Center) ได้ตรวจสอบพบว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงปะปนอยู่ ซึ่งหากมีการส่งต่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอาจสร้างความตื่นตระหนก และมีผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง

ดังนั้นจึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เป็นทางการของภาครัฐ หรือจากหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อความถูกต้องและแม่นยำของข้อมูล หรือสามารถติดตาม และตรวจสอบข้อมูลของข่าวจากช่องทางหลักของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ โทรสายด่วน 1111 ตลอด 24 ชั่วโมงและหากพบโพสต์ ข้อความต้องสงสัย สามารถส่งลิงก์หรือภาพหลักฐานเพื่อตรวจสอบได้ตามช่องทางดังกล่าว

ก.พลังงาน ตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน"

ขณะที่ กระทรวงพลังงาน ตั้ง "ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน" เพื่อติดตามสถานการณ์ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ด้านพลังงาน อันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งส่งผลหรืออาจส่งผลต่อประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ จนกว่าสถานการณ์จะยุติลง

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้สั่งการให้สถานีบริการน้ำมันที่อยู่ใกล้จุดปะทะบริเวณชายแดนงดให้บริการชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชน ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้สถานีบริการน้ำมันในเขตอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยงเปิดบริการตามปกติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความจำเป็นในการเดินทางและภารกิจฉุกเฉินของภาครัฐ อาทิ รถพยาบาล รถดับเพลิง รถตำรวจ ทหาร รวมถึงภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งต้องสามารถเข้าถึงเชื้อเพลิงได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของระบบไฟฟ้า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นหลักในการประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดทีมซ่อมบำรุงประจำพื้นที่ เตรียมความพร้อมกรณีเกิดความเสียหายต่อระบบไฟฟ้า หรือสายส่งที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะ เพื่อให้สามารถฟื้นฟูระบบได้อย่างรวดเร็ว และลดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุด

ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานยังให้มีชุดปฏิบัติการจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในกํากับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์ ระงับเหตุ และแก้ไขสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านพลังงานแก่ประชาชน รวมทั้ง ยังช่วยสนับสนุนด้านกําลังพล วัสดุ ครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วย

อ่านข่าว : EOD เก็บกู้ระเบิดตกค้างในปั๊มน้ำมันกันทรลักษ์ ก่อนกู้ร่างผู้เสียชีวิต

สภาพอากาศวันนี้ "เหนือ-อีสาน-กลาง-ตะวันออก" ฝนตกหนัก

รมว.กีฬา ชี้อาจพิจารณาบอยคอต "กัมพูชา" แข่งซีเกมส์