รีแบรนด์ “ประชานิยม” ชงตั้งกก.ระดับชาติ ใช้ประชารัฐคุมเงินกองทุนหมู่บ้าน-ตำบล 5 ล้าน

30 ก.ย. 58
04:18
388
Logo Thai PBS
รีแบรนด์ “ประชานิยม” ชงตั้งกก.ระดับชาติ ใช้ประชารัฐคุมเงินกองทุนหมู่บ้าน-ตำบล 5 ล้าน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ภายหลังการปรับคณะรัฐมนตรี เดินหน้าทันทีด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เริ่มจากแพ็กเกจมาตรการช่วยเหลือ SMEs ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ตามด้วยคิกออฟมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ 3 มาตรการ วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการกองทุนหมู่บ้าน  ใส่เงินตำบลละ 5 ล้านบาท การลงทุนขนาดเล็ก ทั้งหมดเร่งให้การเบิกจ่ายเงินภายในสิ้นปี

ด้วยรูปแบบการใส่เม็ดเงินลงสู่รากหญ้า มีกระแสตอบรับทันทีว่านี่คือ “นโยบายประชานิยม” อย่างเช่นที่เคยทำมาในอดีต หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้กลับถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศบนเวที “สานพลังประชารัฐ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2558 จัดโดยภาคประชาสังคมเครือข่ายหมอประเวศ ว่าไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็น “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลกับประชาชนทำงานร่วมกัน และมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หนึ่งในแกนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐ บอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ได้หารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนากยกฯ ถึงการสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนลงไปแล้วว่าต้องรีบใช้กลไกประชารัฐเข้าไปเสริมให้ทันกับเม็ดเงินที่ลงสู่รากหญ้า จึงเป็นที่มาของการจัดเวทีคิกออฟเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา

“ประชารัฐกับประชานิยม เป็นคนละเรื่องกัน ประชานิยมเป็นนโยบายที่นักการเมืองเอาทรัพยากรของชาติไปสร้างคะแนนนิยมแก่ตัวเอง มุ่งคะแนนเสียง แต่ประชารัฐเป็นกระบวนการ วิธีทำงานแบบหนึ่ง ที่ผนึกกำลังรัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชน”

นี่จึงเป็นการกลับมาของภาคประชาสังคม ที่เป็นต้นทางของแนวคิดกองทุนหมู่บ้านเมื่อปี 2544 ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง นพ.พลเดช ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) บอกว่า โมเดลนี้มีแนวคิดประชารัฐอยู่ด้วย แต่ถูกรัฐบาลนำไปใช้เพื่อมุ่งหมายในเชิงสร้างความนิยม ตัดกลไกภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจออก ให้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจ่ายเงินให้ประชาชนโดยตรง

“ผมมั่นใจว่าคุณสมคิดเข้าใจเรื่องนี้ ที่ต้องใช้ลักษณะกระบวนการประชารัฐ และค่อนข้างมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้เหมือนคุณทักษิณ” นพ.พลเดช กล่าว

ฟังความเห็นทางด้านนักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดในรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 24 ก.ย.เมื่อถูกถามถึงความเหมือน-ความต่างของประชานิยม และประชารัฐ รศ.ดร.ณรงค์ เริ่มต้นด้วยประโยค “การเมืองชอบสร้างวาทกรรมเพื่อการแสวงหาอำนาจรัฐ การทำให้คนยอมรับผู้แสวงหาอำนาจรัฐอย่างหนึ่งคือ การสร้างวาทกรรม”

ดร.ณรงค์กล่าวว่า จริงๆ แล้วประชานิยมเป็นของดี เพราะเป็นสิ่งที่ทำโดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ในยุคหนึ่งกลายเป็นการลดแลกแจกแถมเพื่อความนิยม และเมื่อ “ประชารัฐ” ถูกนำมาเรียกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดร.ณรงค์ตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้นโยบายประชารัฐที่มาใหม่มีมีความหมายว่ารัฐเพื่อประชาชนหรือไม่ ต้องดูว่าจุดมุ่งหมายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบใด ดร.ณรงค์มองว่า การจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลจริงต้องมุ่งไปที่ผู้ใช้แรงงานเป็นหลักซึ่งเป็นกลุ่มที่มากกว่าเกษตรกร เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

จากนี้ประชารัฐจะเห็นผลในการกำกับการใช้เม็ดเงินให้มีประสิทธิภาพตามการวาดหวังของภาค NGOs ที่มีเครือข่าย นพ.ประเวศ วะสี มูลนิธิสัมมาชีพ หรือไม่ ซึ่งจะมีการเริ่มกระบวนการเวทีประชารัฐอำเภอ เดินหน้าผ่านกลไกองค์กรชุมชน 307,000 แห่งทั่วประเทศ เฉลี่ยจังหวัดละ 4,000 องค์กร โดยมีภาคธุรกิจในท้องถิ่นมาร่วมในเวทีนี้ ซึ่งทางคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีหลังกลับมาจากประชุมสหประชาชาติในวันที่ 1 ต.ค. เพื่อให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน การจัดเวทีประชารัฐระดับอำเภอ-จังหวัด และการตั้งคณะกรรมการระดับชาติสนับสนุน

นพ.พลเดชระบุว่า เวทีประชารัฐระดับจังหวัดจะเริ่มต้นในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ “จะเร่งให้ประชารัฐลงไปติดตามการใช้เงินในระดับล่างให้เร็วที่สุด เวทีนี้เป็นจะเป็นการรับสุญญาณจากรัฐบาลว่าเงินคราวนี้ที่ลงไปยังเศรษฐกิจฐานรากจะคิดแบบเดิมไม่ได้” นพ.พลเดชกล่าว

ขณะที่ฟากของการนำเม็ดเงินที่ลงไปยังระดับล่างที่เดินหน้าผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) แห่งละ 30,000 ล้านบาท ขณะนี้ธนาคารออมสินอนุมัติเงินกู้ให้กองทุนหมู่บ้านที่จองสิทธิ์ในโครงการไปแล้วรวม 15,834 กองทุน คิดเป็นวงเงิน 15,793.97 ล้านบาท จึงต้องติดตามกันว่าการติดอาวุธประชารัฐ ให้กับโครงการอัดฉีดเงินลงรากหญ้าที่คุ้นเคยกันดีว่า คือประชานิยม จะทันการและเป็นไปตามเป้าหมายของภาคประชาสังคมที่จับมือกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นกุนซือหรือไม่ ซึ่งจะตอบได้ว่า การรีแบรนด์ประชานิยมครั้งนี้จะเป็นไปอย่างที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศหลักการประชารัฐที่ยกเอาเพลงชาติมาอธิบายหรือไม่

ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ติดตามข่าวสารอย่างรวดเร็วผ่านไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl


ข่าวที่เกี่ยวข้อง