ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สตง.เล็งจับตาเนื้อหาสัญญาเอ็มโอยู "แท็บเล็ตป.1" แนะเป็นเรื่องดี เพราะได้ราคาถูก และมิตรภาพระหว่างปท.

Logo Thai PBS
สตง.เล็งจับตาเนื้อหาสัญญาเอ็มโอยู "แท็บเล็ตป.1" แนะเป็นเรื่องดี เพราะได้ราคาถูก และมิตรภาพระหว่างปท.

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการ ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา หรือ แท็บเล็ตเด็กป.1 ตามโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ที่บริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนทิฟิก ดีเวลลอปเมนต์ ได้รับคัดเลือกในรูปแบบลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนนั้น จากนี้ไปทางสตง.จะติดตามดูเรื่องการทำรายละเอียดสัญญา คุณภาพ และกระบวนการกระจายไปถึงโรงเรียนต่างๆ และมือเด็กนักเรียนว่ามีคุณภาพขนาดไหน รวมทั้งเรื่องการดูแลรักษาหากเกิดความเสียหาย

"ผมเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการจัดหาครั้งนี้ เป็นแบบจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล) ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นทำเอ็มโอยูกับภาคเอกชนซึ่งเปรียบเสมือนวิสาหกิจของประเทศจีน และได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนมาแล้วระดับหนึ่ง ก็ไม่เป็นเรื่องผิดปกติ และเท่าที่ผมได้ติดตามดูการทำเอ็มโอยู ก็เห็นว่าขั้นตอนต่างๆ ได้ผ่านอัยการสูงสุดแล้ว คงมีการดูแลการทำขั้นตอนต่างๆ รัดกุมพอสมควร ไม่น่าจะทำให้เราเสียเปรียบ แต่จากนี้ต้องดูเรื่องความเหมาะสมของคุณภาพ ราคา การแจกจ่าย และการดูแลรักษา" นายพิศิษฐ์ กล่าว

รักษาการ ผู้อำนวยการสตง. กล่าวว่า หากเปรียบเทียบโครงการต่างๆ ที่ทำจีทูจีแล้ว นายพิศิษฐ์ ระบุว่า โครงการแท็บเล็ตป.1 จะมีรูปแบบจีทูจีคล้ายกับโครงการจัดซื้ออาวุธ และรถถัง ของกองทัพ ที่เป็นรูปแบบหน่วยรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลนั้นๆ ได้รับการรับรองและทำสัญญากับไทย  แต่ข้อเท็จริงแล้ว จะไปเปรียบเทียบกับเรื่องการจัดซื้ออาวุธโดยตรงก็คงไม่ได้ เพราะการจัดซื้อาวุธนั้น หน่วยงานผู้ใช้ มีความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จึงต้องจัดหาให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ แต่แท็บเล็ตเป็นอีกลักษณะหนึ่ง เพราะผู้ใช้เป็นเด็กนักเรียนซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์ได้มากเพียงใด สตง.ก็จะต้องติดตามว่าสิ่งที่ได้สามารถตอบสนองผู้ใช้ได้มากขนาดไหน

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมรัฐบาลไม่ใช้วิธีประมูลแทนก่อนที่จะไปทำจีทูจี นายพิศิษฐ์ บอกว่า ต้องดูว่าประเทศไทยมีการผลิตเองได้หรือไม่ ถ้ายังไม่มีการผลิตแล้วเป็นของที่นำเข้ามา ก็มองว่าการทำจีทูจีน่าจะได้ประโยชน์ เพราะสามารถหาแหล่งผลิตที่เหมาะสมได้ ซึ่งราคาที่ได้ก็พอเหมาะกับของที่เด็กๆใช้ ถ้าแพงเกินไปก็อาจเป็นอันตรายกับเด็ก ซึ่งราคาที่ได้ครั้งนี้กับคุณภาพที่ได้จะไปหาจากประเทศอื่นๆ คงหาไม่ได้ เช่น ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ และยังเป็นเรื่องของมิตรภาพระหว่างประเทศด้วย ส่วนเรื่องจัดหาด้วยความโปร่งใสหรือไม่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องทำสัญญาให้รัดกุม และเกิดประโยชน์สูงสุด แต่ส่วนตัวยังมองไม่เห็นปัญหาในขั้นตอนนี้ เพราะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อได้เครื่องแท็บเล็ตมาใช้งานแล้ว ต้องประเมินผลถึงประสิทธิภาพที่เด็กได้รับว่าจะเกิดความคุ้มค่าหรือไม่ และทางหน่วยงานที่จัดหาก็ควรต้องประเมินผลด้วย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดหา และคิดว่าประมาณ 1 เทอมการศึกษาก็น่าจะทราบผล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง