ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำให้ธุรกิจในกทม.-ต่างจังหวัดปิดกิจการเกือบ 1,000 แห่ง

14:59
29
นโยบายค่าแรงขั้นต่ำทำให้ธุรกิจในกทม.-ต่างจังหวัดปิดกิจการเกือบ 1,000 แห่ง

1 เดือนก่อนบังคับใช้ นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ธุรกิจไทยในทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ต้องปิดกิจการรวมกันเกือบ 1,000 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 100 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ประกอบการประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังเผชิญวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ ซ้ำต้นทุนพลังงาน และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นชนิดไม่ทันตั้งตัว

นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยประเมินว่าหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถปรับตัวรับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง และอีกร้อยละ 40 ในจังหวัดที่เหลือ จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 200,000 แห่ง ต้องปิดกิจการ กระทบผู้ใช้แรงงานอีกนับล้านคน

1 เดือนที่ผ่านมาหลังการบังคับใช้ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการดิ้นรนปรับตัวทั้งเพิ่มประสิทธิภาพเวลาทำงาน และควบคุมรายจ่ายชนิดใช้ทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการช่วยเหลือเอ็มเอ็มอีที่ได้รับผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งสนับสนุนด้านการเงิน และสินเชื่อกว่า 60,000 ล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แต่อาจไม่สามารถยืดเวลาอุตสาหกรรมบางประเภทที่เริ่มถอดใจ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องนุ่มห่ม เนื่องจากมาตรการไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนหนัก

ก่อนแสดงความกังวลหลังนายกรัฐมนตรี ส่งสัญญานไม่ทบทวน เลื่อนการบังคับใช้ ค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศในปีหน้า อาจซ้ำเติมให้ความเสียหายที่ประเมินไว้ เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยพบว่าหนี้ภาคครัวเรือนเฉลี่ย 91,000 บาท สูงสุดในรอบ 4 ปี การปรับขึ้นค่าแรงอัตราใหม่ แทบไม่ช่วยให้หนี้ลดลง เพราะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ปัญหานี้ยังอาจทำให้พวกเขาต้องตกงาน เพราะนายจ้างอาจใช้แรงงานต่างด้าวมาทดแทน

เพียง 1 เดือนหลังการบังคับใช้ ค่าแรงอัตราใหม่ อาจไม่เห็นความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ใช้แรงงาน ก็ไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนดั่งคาดหวัง เพราะราคาสินค้า และบริการเพิ่มสูงขึ้นไปรอค่าแรงอัตราใหม่ล่วงหน้า อาจตอกย้ำถึงการดำเนินนโยบายภาครัฐที่ขาดการเตรียมพร้อมก่อนปฏิบัติจริง และต้องคอยใช้งบประมาณตามแก้ไขในภายหลังไม่สิ้นสุด